สพร. จัดมหกรรมรวมมิตรพิพิธภัณฑ์ “มิวเซียมเฟสติวัล 2012” สร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ปักษ์ใต้ ยกระดับแหล่งเรียนรู้ระดับภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Wednesday October 24, 2012 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ จัดมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ “มิวเซียมเฟสติวัล 2012” ระดมองค์ความรู้-ของเด่นดีจากพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในภาคใต้กว่า 30 แห่งมาจัดแสดงที่จังหวัดภูเก็ต หวังสร้างเครือข่ายพัฒนาพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ระดับภูมิภาค พร้อมกระตุ้นสังคมไทยให้เห็นคุณค่าในอัตลักษณ์ของท้องถิ่น นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. กล่าวถึงจัดงาน มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ “Museum Festival 2012” ว่า พันธกิจหลักที่สำคัญประการหนึ่งของ สพร. คือการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ หรือ Discovery Museum ที่เน้นการกระตุกความคิด จุดประกายความอยากรู้ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ และทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่สนุกสนานและรื่นรมย์ “พันธกิจอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือการพัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ เพื่อที่จะพัฒนาเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการบริหารจัดการ กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นโครงการหนึ่งในการพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ด้วยการจัดเวทีให้กับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ประเภทต่างๆ ได้นำผลงานมาจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รู้จักและเข้าถึงมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน” นายราเมศกล่าว มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ “Museum Festival 2012” ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สี สรรค์ ปราชญ์ เปรื่อง” ซึ่งเป็นครั้งแรกของจังหวัดภูเก็ต ที่มีการ “รวมมิตร...พิพิธภัณฑ์ภาคใต้” โดยรวบรวมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้จากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้กว่า 30 แห่งมาจัดแสดงยัง “พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว” “ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวเทศบาลนครภูเก็ต” “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช บาบ๋าภูเก็ต” และ “สโมสรไทยหัว” โดย พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว จัดแสดงนิทรรศการของ พิพิธภัณฑ์สัตว์และพืชทะเล จ.ภูเก็ต, สวนผีเสื้อและโลกแมลง จ.ภูเก็ต, พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า จ.สตูล, พิพิธภัณฑ์สถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา จ.ปัตตานี, หอพิพิธภัณฑ์และศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านคลองประสงค์ จ.กระบี่, กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี จ.ตรัง, พิพิธภัณฑ์ของเล่นเด็ก จ.ตรัง, พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร จ.นราธิวาส และ พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต สำหรับ สโมสรไทยหัว จัดแสดงนิทรรศการและผลงานของ บ้านหนังตะลุง ลุงสุชาติ จ.นครศรีธรรมราช, พิพิธภัณฑ์พระยานุรัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี จ.ตรัง, ศูนย์วัฒนธรรม จ.สตูล, พิพิธภัณฑ์พระธำมะรงค์ จ.สงขลา, ศูนย์วัฒนธรรม มรภ.นครศรีธรรมราช, พระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) จ.ระนอง และ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มรภ.ภูเก็ต นอกจากนี้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวเทศบาลนครภูเก็ต หรือ ททท.สนง.ภูเก็ต ยังได้จัดแสดงนิทรรศการจาก พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติชุมพร, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลาง จ.ภูเก็ต, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล และ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช สำหรับ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชฯ ได้จัดแสดงนิทรรศการจาก พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช, พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช, วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน (ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง), พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณศึกษา จ.สงขลา, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู จ.สตูล และ สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กัลยาณิวัฒนา (มอ.ปัตตานี) นายกวี ตันสุคตานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตกำลังจะก้าวสู่ความเป็นนครนานาชาติ ซึ่งการที่ภูเก็ตจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนนั้น จะต้องเกิดขึ้นมาจากการพัฒนาที่สร้างสรรค์ด้วยการสร้างมูลค่าให้กับเมืองภูเก็ต โดยให้ชาวภูเก็ตได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนา และสามารถต่อยอดไปสู่ความยั่งยืนได้ “มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้จะช่วยเสริมสร้างให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เห็นคุณค่าของแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ปลูกฝังกระบวนการเรียนรู้และสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้กับท้องถิ่นในการสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ โดยเริ่มต้นจากการมีเจตคติที่ดีต่อชุมชน เห็นคุณค่าของแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาจังหวัด รวมถึงรองรับการพัฒนาประเทศต่อไปได้” นายกวี ระบุ นายแพทย์โกศล แตงอุทัย ประธานสมาคมเพอรานากัน จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ตมีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็นเมืองแห่งความสุขบนรากฐานการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม จึงเกิดความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ผลักดันให้เมืองภูเก็ตเป็นเมืองของเครือข่ายทางวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง “การรวมตัวเกิดเป็นเครือข่ายจะช่วยให้คนทำงานด้านวัฒนธรรมได้มีกำลังใจ กำลังกาย กำลังทรัพย์เพิ่มขึ้น เพราะการมีพิพิธภัณฑ์ก็เหมือนกับการเปิดหน้าต่างของการเรียนรู้ให้กับลูกหลานของเรา และได้สะสมมรดกทางภูมิปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่จะได้มีการสืบสานและต่อยอดองค์ความรู้กันต่อไป แต่ถ้าหากไม่มีพิพิธภัณฑ์ ไม่มีแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ ในอนาคตเราก็คงไม่รู้ว่าเมืองภูเก็ตนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป” นพ.โกศลกล่าว “มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ นอกจากจะช่วยให้เด็กและเยาวชนไทยได้เห็นคุณค่าของแหล่งเรียนรู้หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นในมุมมองที่กว้างขึ้น และสามารถเข้าถึงพิพิธภัณฑ์เครือข่ายท้องถิ่นภาคใต้ได้มากขึ้นแล้ว ยังจะก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในท้องถิ่นในการที่จะพัฒนามาตรฐานในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและเป็นพลังสำคัญที่จะพัฒนากลุ่มพิพิธภัณฑ์เพื่อบริหารประชาชนต่อไปในอนาคต” ผอ.สพร.กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ