รมว.พม. ชี้แจงผลประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(ปคม.) ครั้งที่ ๔/๒๕๕๕

ข่าวทั่วไป Monday December 24, 2012 16:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--พม. เมื่อวันที่ ๑๗ ธ.ค.๕๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ตึกบัญชา ๑ ชั้น ๓ ทำเนียบรัฐบาล ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ครั้งที่๔/๒๕๕๕ พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าร่วมประชุม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ปคม. ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฏาคม ๒๕๕๕ มีมติเห็นชอบข้อเสนอ แนวทาง มาตรการการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในรูปแบบแรงงานประมง และแนวทางการจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมง โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ รวมทั้งเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามการดำเนินงาน ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ ลงมติเห็นชอบข้อเสนอฯ ดังกล่าว เพื่อสกัดกั้นและขจัดขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี(ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง) ประธานกรรมการ ปคม.ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับและติดตามข้อเสนอ แนวทาง มาตรการการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในรูปแบบแรงงานประมง เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้ง มีการจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงจังหวัด ซึ่งเป็นโครงการนำร่องจำนวน ๗ ศูนย์ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร สงขลา ระนอง และสตูล เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นายจ้างที่ประสงค์จะใช้แรงงานทำการประมงได้ปฎิบัติตามกฏหมายและจรรยาบรรณ และเป็นช่องทางแรงงานเข้าสู่การทำงานในภาคประมงอย่างปลอดภัยจากการถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ นายสันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ ยังได้มีการเสนอปัญหาคนไทยตกทุกข์ได้ยากและการค้ามนุษย์ในมาเลเซีย โดยมีสถิติคนไทยที่เดินทางเข้าไปประกอบอาชีพในมาเลเซีย ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน/ปี ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่เข้าไปอย่างถูกกฏหมายประมาณ ๙,๐๐๐ คน ส่วนที่เหลือต้องอยู่อย่างผิดกฏหมายและตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ เช่น ขนยาเสพติด บังคับค้าประเวณี หลอกลวงให้ไปเป็นลูกเรือประมง เป็นต้น ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากคนไทยกลุ่มเสี่ยงนี้ไม่รู้ข้อเท็จจริง และปัญหาความยากจน ทำให้ต้องการไปประกอบอาชีพในต่างแดน โดยเข้าใจผิดคิดว่าเงินริงกิต(ค่าเงินของมาเลเซีย) มีค่ามากกว่าเงินบาทของไทย จึงเกิดปัญหาการหลอกลวงแรงงานง่ายขึ้น ทั้งนี้ สถานฑูตไทยประจำประเทศมาเลเซีย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติประจำสถานฑูตไทยในประเทศมาเลเซีย ได้ร่วมมือหาทางคลี่คลายปัญหา พร้อมให้คำแนะนำและตักเตือนคนไทยกลุ่มเสี่ยงนี้ แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ปฎิบัติตามคำแนะนำ ทำให้ปัญหานี้เพิ่มขึ้น และไม่หมดไป จากปัญหานี้ รัฐบาลได้มีแนวคิดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงป้องกัน เพื่อให้คนไทยที่ต้องการไปประกอบอาชีพในมาเลเซียไม่ตกเป็นเหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบอีกต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ