4 ยุทธศาสตร์....เพื่อปฏิบัติการคืนป่าให้แผ่นดิน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 26, 2004 12:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นโยบายด้านทรัพยากรป่าไม้นับเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายการแก้ไขปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ไว้ 3 แนวทางคือ
1.หยุดยั้งการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าโดยทันที และทำอย่างต่อเนื่อง
2.จัดระบบการให้สิทธิแก่ราษฎรยากจนอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และ
3.เร่งรัดการปลูกป่าเพื่อฟื้นคืนธรรมชาติ
จากนโยบายดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านทรัพยากรธรมชาติของประเทศ จึงได้วางแผนป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ขึ้น
เพื่อพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้อันเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศ ให้มีสภาพสมบูรณ์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน อันที่จะทำให้ป่าเป็นทรัพยากรพื้นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแนวทางของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีไว้
4 ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1.ด้านการ ปราบปราม
ยุทธศาสตรที่ 2.ด้านป้องกัน
ยุทธศาสตร์ที่ 3.ด้านการปลูกป่า และ
ยุทธศาสตรที่ 4.ด้านการปรับเปลี่ยน
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการปราบปราม เป็นการดำเนินงานตามแนวทางหยุดยั้งการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าฯ โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการขึ้น 3 ระดับ คือ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ (ศปท.) เป็นศูนย์ฯ ระดับประเทศที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ
ทำหน้าที่รับมอบนโยบายจากนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ (คอป.) จัดทำแผนปฏิบัติการ ซักซ้อมความเข้าใจ ตลอดจนสั่งการปฏิบัติงานกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ระดับจังหวัด (ศปท.จ.) ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการฯนี้ จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ความก้าวหน้าการปฏิบัติงานเพื่อรายงานต่อระดับนโยบาย ตลอดจนสั่งการปฏิบัติงานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด อำเภอ
ส่วนหน่วยปฏิบัติการระดับสุดท้าย คือ หน่วยปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า (นปท.) เป็นหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ซึ่งได้กำหนดพื้นที่รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน โดยนปท.แต่ละหน่วยจะอยู่ภายใต้การควบคุม และกำกับการปฏิบัติงานของ ศปท.จ. ซึ่งการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ปราบปรามนี้ ยังต้องมีการจัดทำข้อมูลและแผนที่แสดงพื้นที่รับผิดชอบและสภาพป่า เพื่อใช้จัดระบบการตรวจตราและกำหนดแผนการลาดตระเวนอย่างมีประสทธิภาพ รวมทั้งต้องจัดระบบการข่าว การสืบหาข้อมูลเบาะแส และแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนธิกำลัง
อันจะทำให้สามารถจัดการตรวจตราและลาดตระเวนในพื้นที่ล่อแหลม ตลอดจนเข้าปราบปรามได้ทุกพื้นที่และต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังต้องดำเนินการตรวจสอบการอนุญาตไม้ ทั้งใบอนุญาตในอุตสาหกรรมไม้ และใบอนุญาตการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินยุทธศาสตร์ปราบปรามเป็นไปอย่างครอบคลุมด้วย
ส่วนการดำเนินการตามแนวทางจัดระบบการให้สิทธิแก่ราษฎรยากจนอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของฯพณฯ นายกรัฐมนตรีนั้น กระทรวงได้ดำเนินการผ่านยุทธศาสตร์การป้องกัน โดยได้จัดตั้งหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ตามพระราชดำริเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินีขึ้นทุกหมู่บ้านรอบพื้นที่ป่าและในพื้นที่ป่า ตลอดจนสร้างเครือข่ายอาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรที่อยู่อาศัยใกล้กับป่าได้เป็นแนวร่วมในการเฝ้าระวังและดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนมีความเข้าใจในการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการป้องกันนี้ยังได้มีการดำเนินงานเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าโดยภาพถ่ายดาวเทียมหรือภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งจะช่วยในการติดตามผลการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการขยายผลและติดตามผลคดี ด้วยการจัดชุดเฉพาะกิจรวบรวมผลการจับกุม วิเคราะห์ปัญหาและข้อจำกัด รวมทั้งพัฒนาทักษะและเทคนิคในการสืบสวนหาพยานหลักฐานเพื่อขยายผลคดี ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลทาง Internet และพัฒนาความรู้ด้าน IT ระหว่าง ศปท. ศปท.จ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับต่างๆ เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการรายงานข้อมูลการจับกุมดำเนินคดี
ความก้าวหน้าในการติดตามผลคดี ซึ่งการดำเนินงานผ่าน Internet นี้จะต้องมีการจัดระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและวิธีสั่งการอย่างดี
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 การปลูกป่านั้น เป็นการดำเนินการตามแนวทางเร่งรัดการปลูกป่าเพื่อฟื้นคืนธรรมชาติ ซึ่งจะใช้วิธีการตรึงพื้นที่ปลูกป่าในพื้นที่ตรวจยึดใหม่ โดยจะวางแผนการปลูกป่า ฟื้นฟูพื้นที่ แล้วให้ทสม. ช่วยดูแลบำรุงรักษา และเฝ้าระวัง นอกจากนั้นจะดำเนินการสร้างป่าหมู่บ้านในพื้นที่ถูกบุกรุกเดิม โดยให้ชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้ปลูก ฟื้นฟู บำรุงรักษาดูแล และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนด้วยกติกาหมู่บ้าน พร้อมกันนี้จะมีการประสานข้อมูลเพื่อจัดทำ Village Profile สำหรับใช้วางแผนจัดการทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลพื้นที่ป่าไม้
ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 4 การปรับเปลี่ยน เป็นยุทธศาสตร์ที่ทางกระทรวงทรัพยากรกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติประชาชนทั่วไป โดยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และปลูกจิตสำนึก
ในเรื่องปัญหาจากการบุกรุกทำลายป่าไม้ แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนใช้มาตรการทางสังคมเพื่อยกย่องเชิดชูผู้ทำประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ ขณะเดียวกันก็สร้างเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังจับตาผู้กระทำผิด รวมทั้งจัดทำข้อมูลทะเบียนประวัติผู้บุกรุกป่าผู้มีอิทธิพล และที่สำคัญคือทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ด้วยการใช้มาตรการทางภาษีย้อนหลัง การตรวจสอบยึดทรัพย์สิน และการย้ำเตือนให้เลิกพฤติกรรม
ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ที่ทางกระทรวงได้ดำเนินการนั้น เป็นแผนปฏิบัติการ 5 ปี ที่มีเป้าหมายสูงสุด คือ “คืนป่าให้แผ่นดิน” ด้วยการมุ่งมั่นพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศให้มีสภาพสมบูรณ์
เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ