ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. ไออาร์พีซีที่ ‘A- (tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 30, 2013 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ที่ระดับ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ รวมถึงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวสำหรับหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทที่ระดับ ‘A-(tha)’ ฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตของบริษัทฯโดยลำพังเอง (Stand-alone Rating) ซึ่งการเพิ่มดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความสำคัญทางกลยุทธ์ของบริษัทฯที่มีต่อบมจ. ปตท. หรือ ปตท. (ซึ่งมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่มากขึ้น และการดำเนินงานที่เกี่ยวโยงกัน นอกเหนือจากการที่ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 39 อย่างไรก็ตามเนื่องจากฟิทช์ได้ลดอันดับเครดิตของบริษัทฯโดยลำพังลงเป็น ‘BBB+(tha)’ จาก ‘A-(tha)’ เนื่องจากสถานะทางเครดิตของบริษัทฯที่อ่อนแอลง แต่การปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากความเชื่อมโยงกับ ปตท. ข้างต้น ทำให้อันดับเครดิตสุดท้ายของบริษัทฯไม่มีการเปลี่ยนแปลง ฟิทช์มองว่าความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทฯ กับ ปตท. ได้เพิ่มขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยการที่บริษัทฯได้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการเงินส่วนกลางของกลุ่ม ปตท. การสับเปลี่ยนหมุนเวียนของผู้บริหารระดับสูงระหว่าง ปตท.และบริษัทในเครือซึ่งรวมถึงบริษัทฯด้วย รวมถึงความยืดหยุ่นในการชำระเงินค่าสินค้ากับทาง ปตท. บริษัทฯเป็นหนึ่งในบริษัทที่ทำธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีที่สำคัญในกลุ่ม ปตท. และมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทฯอาจจะถูกควบรวมกับบริษัทขนาดใหญ่อื่นในเครือ ปตท. ที่ทำธุรกิจปิโตรเคมีปลายน้ำในอนาคต สถานะทางเครดิตของบริษัทฯโดยลำพังอ่อนแอลงในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมา และฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ จะยังคงอยู่ในระดับสูงในระยะหนึ่งถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนแอและระดับหนี้สินที่สูงกว่าที่คาดในปี 2555 ตลอดจนแนวโน้มธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีที่ยังคงอ่อนตัวอยู่ในช่วง 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้านี้ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานจะอยู่ในระดับ 3.5 เท่า ถึง 4.25 เท่า ในช่วงปี 2556-2559 (ปี 2554 อยู่ที่ 2.7 เท่า) ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์เดิมของฟิทช์ บริษัทฯมีแผนการลงทุนเป็นจำนวนเงิน 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2555 — 2559 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ รวมถึงการขยายกำลังการผลิตและเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ซึ่งการเพิ่มค่าใช้จ่ายการลงทุนดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯเพิ่มสูงขึ้นในช่วงของการใช้จ่ายลงทุน แม้ว่าฟิทช์มีความเห็นว่าบริษัทฯ น่าจะมีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่งในเรื่องระยะเวลาในการใช้จ่ายลงทุน ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯจะได้รับประโยชน์จากการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าน้ำมันดิบในปี 2556 ซึ่งจะลดความต้องการเงินทุนหมุนเวียนลง เป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ และลดระดับความจำเป็นในการกู้ยืมเงินของบริษัทฯ ในช่วงที่บริษัทฯมีค่าใช้จ่ายการลงทุนที่สูง ในช่วงปี 2556-2557 อันดับเครดิตของบริษัทฯสะท้อนถึงความได้เปรียบในการแข่งขันเนื่องจากการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย รวมถึงประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและชื่อเสียงของบริษัทฯ ในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายอันยาวนานในประเทศไทย การมีการผลิตที่ครบวงจรดังกล่าว สร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยังช่วยลดความผันผวนของรายได้เมื่อเทียบกับผู้ผลิตที่มีการผลิตไม่ครบวงจร โรงกลั่นของบริษัทฯมีความซับซ้อนในการกลั่นน้ำมันที่น้อยกว่าโรงกลั่นขนาดใหญ่อื่นๆ ในประเทศ อย่างไรก็ตามบริษัทฯมีแผนการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น จากแผนการลงทุนข้างต้นซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มอัตราส่วนกำไร รวมถึงช่วยให้อัตราส่วนกำไรมีความผันผวนลดลง อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงความเสี่ยงที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น ตลอดจนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลก ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงแผนการลงทุนที่สูงและการพึ่งพิงการส่งออกในธุรกิจปิโตรเคมีเนื่องจากประเทศไทยมีกำลังการผลิตโพลีเมอร์ที่เกินความต้องการใช้ภายในประเทศ (ในปี 2554 ประเทศไทยส่งออกโพลีเมอร์ประมาณร้อยละ 58 ของโพลีเมอร์ที่ผลิตได้) นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเผชิญกับความเสี่ยงในเรื่องการจัดหาน้ำมันดิบ เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก: -การมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3.25 เท่า อย่างต่อเนื่อง - ระดับความสัมพันธ์ในการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯกับ ปตท. ที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยลบ: - ค่าการกลั่นและส่วนต่างระหว่างราคาปิโตรเคมีและวัตถุดิบที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง -การลงทุนที่มีแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมที่สูงกว่าที่คาดซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับที่สูงกว่า 4.25 เท่า อย่างต่อเนื่อง - ความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ ต่อ ปตท. ที่ลดลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ