ปตท.สผ. แถลงความก้าวหน้าการดำเนินงาน ปี 2555 และแผนการดำเนินงานปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 21, 2013 16:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--ปตท.สผ. นายเทวินทร์ วงศ์วานิช (Mr. Tevin Vongvanich) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. แถลงความก้าวหน้าการดำเนินงาน สำหรับปี 2555 และแผนการดำเนินงานปี 2556 และแผนงานระยะยาว เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทที่เติบโตได้ด้วยความสามารถทางเทคโนโลยีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Technology Competence and Green Company) ตามวิสัยทัศน์ของบริษัท ดังนี้ ความสำเร็จในการดำเนินงานปี 2555 1. การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 650 ล้านหุ้น ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในปี 2555 จำนวน 650 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 142 บาท เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับเงินจากการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนหลังหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง) เป็นเงินประมาณ 91,624 ล้านบาท 2. การลงทุนใหม่ในสหภาพเมียนมาร์และการขยายการลงทุนสู่แอฟริกาตะวันออก เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ปตท.สผ. ชนะการประมูลสิทธิในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมแปลงบนบกจำนวน 2 แปลง คือ แปลง PSC-G และแปลง EP-2 ในสหภาพเมียนมาร์ และในเดือนสิงหาคม 2555 ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท Cove Energy และได้รับสิทธิในการถือสัดส่วนการร่วมทุนในแปลงสำรวจ Rovuma Offshore Area 1 และสัดส่วนการร่วมทุนในแปลงสำรวจปิโตรเลียมอื่น ๆ ในประเทศโมซัมบิกและประเทศเคนยา 3. ความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการหลัก แหล่งบงกชใต้ เริ่มทดสอบการผลิตเมื่อเดือนมีนาคม 2555 และสามารถผลิตได้ถึงอัตรา 320 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาซื้อขาย (Daily Contractual Quantity: DCQ) ในเดือนมิถุนายน 2555 โครงการเอส 1 สามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบสูงสุดได้ถึง 35,176 บาร์เรลต่อวัน โดยมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2555 ประมาณ 28,000 บาร์เรลต่อวัน ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา โครงการเอส 1 สร้างสถิติการผลิตสูงสุดขึ้นอีกครั้งโดยการผลิตน้ำมันดิบที่อัตราการผลิต 36,690 บาร์เรลต่อวัน โครงการเวียดนาม 16-1 เสร็จสิ้นการติดตั้งแท่นหลุมผลิตที่ 2 ปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 55,000 บาร์เรลต่อวัน โครงการพีทีที ออสตราเลเชีย อยู่ระหว่างการเชื่อมต่อ ทดสอบระบบ และเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิต ในแหล่งมอนทารา คาดว่าจะเริ่มการผลิตในเดือนมีนาคม 2556 โดยมีกำลังการผลิตที่ 25,000 - 30,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีแผนการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมอีก 1 หลุมในปีนี้ โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคส ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจโดยพบน้ำมันดิบจำนวน 6 หลุม ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบอัตราการไหลของหลุมสำรวจที่ 8 โครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ เคเคดี - แหล่ง Leismer ในส่วนของ well pad ที่ 5 พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ส่วนแผนการขยายกำลังการผลิต (Leismer Expansion) อยู่ในขั้นตอนการวางการดำเนินงานเพื่อรองรับอัตราการผลิตที่จะขยายเป็น 40,000 บาร์เรลต่อวัน - แหล่ง Corner จะมีการทำ Final Investment Decision (FID) ช่วงปลายปี 2556 — ต้นปี 2557 โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน กลุ่มบริษัทร่วมทุนได้จัดจ้างบริษัทรับเหมาเพื่อให้ออกแบบทางวิศวกรรม (Front End Engineering Design: FEED) 2 ส่วน ได้แก่ การติดตั้งอุปกรณ์การผลิตและท่อส่งก๊าซนอกชายฝั่งและการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบก อีกทั้ง Anadarko ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในโครงการโมซัมบิก โรวูม่า ออฟชอร์ แอเรีย วัน ได้ทำข้อตกลงเบื้องต้น (HOA: Heads of Agreement) กับบริษัท Eni ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการของโครงการโมซัมบิก โรวูม่า ออฟชอร์ แอเรีย โฟร์ โดยจะประสานงานในการดำเนินงานพัฒนาแหล่งก๊าซฯนอกชายฝั่งและร่วมมือกันวางแผนและพัฒนาการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบกที่เขตอุตสาหกรรม Cape Afugi ในเมือง Cabo Delgado ตอนเหนือของประเทศโมซัมบิก ผลการดำเนินงานด้านการเงิน ปี 2555 ผลการดำเนินงานปี 2555 ที่ตรวจสอบแล้วของปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานตามปกติจำนวน 1,846 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 57,316 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 378 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 26 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 ที่มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 1,468 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 44,748 ล้านบาท) และมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on shareholders’ equity) ร้อยละ 21.68 รายได้รวมของ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยในปี 2555 มีจำนวน 7,021 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 218,137 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1,336 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งมีรายได้รวม 5,685 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 173,375 ล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้จากราคาขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสำหรับปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 64.86 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสำหรับปี 2554 ที่ 55.49 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ประกอบกับปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยปี 2555 สูงขึ้นเป็น 275,923 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากในปี 2554 ที่มีปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 265,047 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากแหล่งบงกชใต้ โครงการเวียดนาม 16-1 และโครงการเอส 1 ปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้ว ณ 31 ธันวาคม 2555 ปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้วรวมทุกโครงการของ ปตท.สผ. และบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 รวมทั้งหมด 901 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ร้อยละ 29 และก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 71 ซึ่งยังไม่รวมปริมาณปิโตรเลียมที่ได้สำรวจพบในโครงการเวียดนาม บี และ 48/95 และ โครงการเวียดนาม 52/97 เนื่องจากยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement) แผนการดำเนินงาน 5 ปี (2556 — 2560) ตามเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่จะเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขับเคลื่อน ปตท.สผ. ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับเป้าหมายดังกล่าว ในการรักษาระดับปริมาณการผลิตโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียม เน้นการกำกับโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้ดำเนินการได้ตามแผนงานที่วางไว้ รวมทั้ง เร่งกิจกรรมสำรวจ เพื่อแสวงหา และประเมินศักยภาพให้สามารถ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมจากโครงการสำรวจต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น แผนการดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556 — 2560 จะประกอบด้วยประมาณการรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) เป็นจำนวน 24,671 ล้านดอลล่าร์ สรอ. สำหรับประมาณการรายจ่ายรวมของปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 5,809 ล้านดอลล่าร์ สรอ. นั้น (ประมาณ 174,270 ล้านบาท) ปตท.สผ. จะนำไปใช้ในการดำเนินการ ดังนี้ - รักษาระดับการผลิตในโครงการอาทิตย์ โครงการบงกช โครงการเอส 1 โครงการคอนแทร็ค 4 และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย-บี 17 - เพิ่มปริมาณการผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ได้แก่ พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย (แหล่งมอนทารา) โครงการซอติก้า ในประเทศเมียนมาร์ โครงการแอลจีเรีย 433เอ และ 416บี โครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ เคเคดี (ส่วนขยายของแหล่ง Leismer และ Corner) รวมทั้งรายจ่ายในการพัฒนาโครงการโมซัมบิก โรวูม่า ออฟชอร์ แอเรีย วัน ด้วย - ค้นหาศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ได้แก่ โครงการพม่าเอ็ม 3 และเอ็ม 11 โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ และโครงการสำรวจต่าง ๆ ในประเทศออสเตรเลีย โมซัมบิก และเคนยา ทิศทางการลงทุนของ ปตท.สผ. ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่หลักที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ ประเทศไทย สหภาพเมียนมาร์ ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ และแอฟริกาตะวันออก โดยพิจารณาโอกาสการขยายการลงทุนในโครงการสำรวจ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท และ การเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการเป็นส่วนเสริม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ