ผลสำรวจเอชเอสบีซี เผยโฉมหน้าการค้าโลกที่เปลี่ยนไปสร้างโอกาสธุรกิจ เตือนผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัว พัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 1, 2013 14:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี ธนาคารเอชเอสบีซี เผยรายงานคาดการณ์การค้าโลกล่าสุด ระบุแนวโน้มการผลิตเพื่อการค้าทั่วโลกจะพลิกโฉมหน้าไปเป็นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะสร้างโอกาสการขยายตัวแก่ภาคธุรกิจอย่างมหาศาล กดดันให้ผู้ประกอบการไทยที่ยังคงรับจ้างผลิตในหลายกลุ่มธุรกิจต้องเร่งปรับตัวสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์เพื่อคว้าโอกาสธุรกิจตามกระแสการค้าโลกที่เปลี่ยนไป การเติบโตของการค้าทั่วโลกในมิติใหม่นี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น และความต้องการบริโภคที่อิ่มตัวของหลายประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา โดยรายงานผลสำรวจการค้าโลกของเอชเอสบีซี สะท้อนถึงการที่แนวโน้มเหล่านี้ทำให้ประเภทสินค้านำเข้า สินค้าที่ผลิต และสินค้าส่งออก พลิกโฉมหน้าไปจากเดิม การที่ประเทศต่าง ๆ หันไปมุ่งเน้นการค้าขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้องค์กรธุรกิจมีโอกาสพัฒนาและเติบโตสูงมาก ตัวอย่างรายงานการค้าของเวียดนาม และบังคลาเทศ แสดงถึงรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนจากการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในภาคเกษตรกรรม เช่น ธัญพืช หรือน้ำตาล มาสู่การเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตน้ำตาล หรือผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าจากวัตถุดิบทางการเกษตรและมีตราสินค้าของตนเอง ส่วนตลาดที่พัฒนาแล้วหลายแห่ง พบว่าสินค้าที่ค้าขายกันมีลักษณะเป็นสินค้าประเภทที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษมากขึ้น เช่น สินค้าเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ยา เนื่องจากองค์กรธุรกิจหาช่องทางที่จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น แนวโน้มการผลิตเพื่อการค้าที่เปลี่ยนไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเห็นได้ชัดในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องจักรกลอุตสาหกรรมของจีนเติบโตได้เพิ่มขึ้น สวนทางกับหมวดสินค้ามีอัตราการเติบโตที่ลดลง เช่น สินค้าสิ่งทอ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจในประเทศขนาดเล็ก และเติบโตเร็วหลายแห่งทั่วภูมิภาคได้เข้ามาดำเนินธุรกิจผลิตสินค้าที่มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น มร. เจมส์ เอมเม็ทท์ ผู้อำนวยการบริหารระดับโลก ฝ่ายบริการการค้าและเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า “ตลาดเกิดใหม่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะเปลี่ยนโฉมหน้ารูปแบบการค้าของโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า ธุรกิจการค้าในตลาดเกิดใหม่ที่เริ่มขยายไปสู่หมวดสินค้าใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ตลาดที่พัฒนาแล้วต่าง ๆ ต้องมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ และกระจายการผลิตที่หลากหลายเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน การที่องค์กรธุรกิจต้องวางแผนในระยะยาว เพื่อหาประโยชน์จากแนวโน้มใหม่ของการค้าโลก จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าตลาดแต่ละแห่งต้องการสินค้าชนิดใดเพื่อสร้างโอกาสที่ยิ่งใหญ่ทางธุรกิจ” นางจุฑามาส เรืองวณิช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริการการค้าและเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “ผู้ประกอบการไทยในหลายภาคธุรกิจที่ยังคงผลิตแบบเน้นปริมาณ (Mass Production) จำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน เพื่อรับมือกับแนวโน้มการค้าโลกที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต ปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อในโลกการค้าได้ เนื่องจากการขาดการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ยังคงผลิตตามคำสั่งซื้อหรือรับจ้างผลิต ควรปรับปรุงให้เกิดความแตกต่างในสินค้าและบริการของตน อาทิ การนำเสนอรูปแบบใหม่ การสร้างแบรนด์ของตนเอง และพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรวางแผนจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันทั้งในตลาดอาเซียนด้วยกันเอง และในตลาดโลก” ตลาดเกิดใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่โซ่อุปทาน ประเทศที่มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าในโซ่อุปทานที่เห็นได้ชัดที่สุด ได้แก่ มาเลเซีย และอาร์เจนตินา สินค้าส่งออกที่สำคัญของมาเลเซียจะเปลี่ยนจากหมวดสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มน้อย เช่น สัตว์ และน้ำมันพืช ไปสู่สินค้าประเภทเครื่องจักรกลอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะเป็นหมวดที่มีมูลค่าการเติบโตสูงที่สุดของการส่งออกของมาเลเซียภายในปี 2573 ส่วนสินค้าส่งออกที่สำคัญของอาร์เจนตินาจะเปลี่ยนจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์ไปเป็นสินค้าประเภทอุปกรณ์การขนส่งและเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม โอกาสทางธุรกิจของสินค้าประเภทเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม สินค้าประเภทเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม นับตั้งแต่เครื่องจักรสำหรับโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ไปจนถึงชิ้นส่วนขนาดเล็กสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน จะมีบทบาทโดดเด่นในฐานะเป็นหมวดสินค้าส่งออกที่สำคัญของโลก รายงานคาดการณ์การค้าโลก ระบุว่า ภายในปี 2573 สินค้าเครื่องจักรกลอุตสาหกรรมจะครองสัดส่วนราวร้อยละ 25 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของประเทศคู่ค้าชั้นนำ 25 ประเทศทั่วโลก และมีมูลค่าการเติบโตเกินกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมนับจากปี 2573 เป็นต้นไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ