ไม่มีทั้ง Exit Poll และ Entry Poll จากสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ในการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. 56

ข่าวทั่วไป Friday March 1, 2013 12:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--เอแบคโพลล์ เอ็กซิทโพลล์ (Exit Poll) คือการสอบถามประชาชนว่าประชาชน “ได้เลือกใคร” หลังจากใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว ในขณะที่ เอ็นทรีโพลล์ (Entry Poll) คือการสอบถามประชาชนว่า “จะเลือกใคร” แต่ทั้งสองรูปแบบนี้เป็นการสอบถามประชาชนที่บริเวณหน่วยเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง โดยเอแบคโพลล์จะไม่ทำทั้งเอ็กซิทโพลล์และเอ็นทรีโพลล์เนื่องจากที่ผ่านมานักศึกษาถูกสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่รัฐบางคนและจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองบางกลุ่มอย่างรุนแรง เช่น กักขังหน่วงเหนี่ยว กดดันสารพัดรูปแบบ ฉกชิงคำตอบของประชาชนจากนักศึกษาที่หน่วยเลือกตั้ง จนนักศึกษาจำนวนมากรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ยิ่งไปกว่านั้น นักศึกษาถูกเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการเลือกตั้งผลักดันให้ออกไปที่ปากซอยทำให้เก็บข้อมูลจากคนที่มีฐานะขับรถมาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ แต่กลับปล่อยให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้าไปในบริเวณหน่วยเลือกตั้งได้นี่ “ไม่ใช่แค่เรื่องผิดปกติ” ในสังคมประชาธิปไตย แต่สะท้อนให้เห็นจิตสำนึกของผู้ใหญ่ในสังคมซึ่งเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นไม่น่าเกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครกับนักศึกษาและเยาวชนที่หวังทำงานหารายได้ค่าหน่วยกิตอย่างสุจริตแต่กลับถูกสกัดกั้นกดดันสารพัดรูปแบบจากผู้ใหญ่จนเด็กและเยาวชนเหล่านั้นบอกว่า ผู้ใหญ่ในสังคมไทยเป็นอะไรกันไป เด็กๆ มั่วสุมก็จับกุม เด็กๆ ทำงานก็สกัดกั้น และจะให้พวกเขาทำอะไรในสังคมนี้ ดังนั้น ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์จึงหันมาทำสำรวจโพลล์ที่เรียกว่า โพลล์ก่อนวันเลือกตั้ง (Pre-Election Poll) แทน โดยสุ่มตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธเลือกตั้งในระดับครัวเรือนเพื่อทดสอบทฤษฎีด้านระเบียบวิธีวิจัยและการพัฒนางานทางวิชาการควบคู่ไปกับการให้โอกาสนักศึกษาจากทุกสถาบันเรียนรู้โลกแห่งความเป็นจริงและได้ค่าเบี้ยเลี้ยงเป็นค่าหน่วยกิตของพวกเขา โดยสำนักวิจัยฯ จะส่งนักศึกษาลงพื้นที่กว่า 30 เขตการปกครองโดยอาศัยหลักสถิติในการเลือกตัวอย่างที่มีความเป็นตัวแทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ระดับครัวเรือนจำนวนประมาณห้าพันคนเท่านั้นหรือประมาณร้อยละ 0.0012 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด และจะเปิดเผยผลสำรวจทันทีหลังปิดหีบเลือกตั้งเวลา 15.00 น.ทางสื่อมวลชนทุกแขนง ก็ขอฝากถึงผู้ใหญ่ในสังคมว่า การทำโพลล์เป็นการพัฒนาเรียนรู้ทางวิชาการประยุกต์ที่ต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงต่อไปไม่มีสิ้นสุดในสังคมประชาธิปไตยจึงขอให้ผู้ใหญ่ทุกฝ่ายได้สนับสนุนเกื้อกูลคณะวิจัยและนักศึกษาจากทุกสถาบัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ