เปิดโมเดลตำบลเจดีย์คำ ผนึกกำลังท้องถิ่น-ชุมชน ปั้นเด็กดีให้สังคม

ข่าวทั่วไป Friday April 5, 2013 19:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สสส. ชั่วโมงปัจจุบัน เห็นทีคนทำงานท้องถิ่นจะรับผิดชอบแค่งานปกติประจำวันอย่างเดียวคงไม่พอ ด้วยปัญหาในชุมชน ตลอดจนความคาดหวังของประชาชนล้วนท้าทายวิธีคิดและความสามารถให้เร่งขับเคลื่อนงานในมิติที่กว้างขึ้น ไม่ต้องถึงขนาดเป็นโครงการมูลค่ามหาศาล เพราะเอาแค่เรื่องพื้นฐานอย่างการศึกษา-คุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมทางสังคม ฯลฯ การจะลดช่องว่างในเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่กับทุกท้องถิ่น ชุมชนตำบลเจดีย์คำ อ.เชียงคำ จ.พะเยา แม้ไม่ต่างจากพื้นที่อื่น เพราะความยากจนส่งผลให้เด็กขาดโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน เด็กหลายคนในวัยประถมต้องช่วยครอบครัวทำงาน ซ้ำร้ายบางกรณีติดเชื้อเอชไอวีจากพ่อแม่ตั้งแต่กำเนิด กลุ่มที่ดูจะมีโอกาสมากกว่าใครก็กลับใช้มันไม่ถูกทาง เด็กบางคนติดเกมคอมพิวเตอร์และริลองใช้ยาเสพติดทดแทนช่องว่างระหว่างพ่อแม่ที่ออกไปทำงานต่างถิ่น หากบทเรียนของเจดีย์คำ ที่น่าสนใจ คือการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการทางสังคมร่วมขัดเกลา “เยาวชน” ซึ่งเป็นอนาคต หน่วยงานทุกฝ่ายต่างร่วมมือ ทั้งสาธารณสุข องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน ขณะเดียวกันคนทำงานก็พร้อมเปิดใจรับองค์ความรู้ใหม่ๆจากภายนอก “ธารทิพย์ ชิดสนิท” หัวหน้ากลุ่มเยาวชน วายดีซีเชียงคำ (YDC-Youth Development Chiang Kham) ซึ่งคลุกคลีกับเยาวชนในพื้นที่ บอกถึงกิจกรรม “สุขที่ใจ ให้ด้วยรัก” ที่นำแนวคิดการสร้างสุขภาวะทางปัญญามาใช้กับเด็กในพื้นที่เจดีย์คำว่า นำแนวคิดการพัฒนาชุมชนจาก การอบรมกับเครือข่ายพุทธิกา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และค่อยๆสร้างกิจกรรมในพื้นที่ โดยการชักจูงเด็กและเยาวชนในทุกระดับให้เห็นความสำคัญกับเรื่องใกล้ตัวก่อน เช่น สิทธิของตัวเอง เกษตรกรรมธรรมชาติที่สามารถปลูกและบริโภคได้จริง ตลอดจนจัดกิจกรรมสันทนาการพัฒนาด้านอารมณ์ กล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว “แต่เราทำคนเดียวไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ โจทย์เราอยู่ว่าต้องการจะพัฒนาศักยภาพเด็กของเราให้เขามีหลักคิด ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นั่นจะทำให้ปัญหาชุมชนหรือเด็กติดเกมลดน้อยลง ตั้งแต่เริ่มตั้งแต่ทำโครงการจึงขอคำปรึกษาจากทาง อบต. อนามัย ผู้นำชุมชน กำนันมาตลอด เราจะคุยกับผู้ใหญ่ทุกคนว่าเราอยากจะทำโครงการในลักษณะแบบนี้ ผู้ใหญ่เห็นยังไงบ้าง เขาก็ให้การสนับสนุน เลยเขียนโครงการไปที่ สสส. ก็ได้งบประมาณจากชุดโครงการเด็กด้อยโอกาสมาดำเนินกิจกรรม”ธารทิพย์กล่าวที่มาของกิจกรรม บุคลากรส่วนท้องถิ่น “ศิริโชค ชมชื่น” รองนายกอบต.เจดีย์คำ เล่าว่า ทุกฝ่ายเห็นดีงามกับการทำกิจกรรมกับเยาวชนอยู่แล้ว และตลอด2ปีที่ทำกิจกรรม จะใช้เวลาวันเสาร์หรือวันหยุดของเด็กๆ นัดพบกันเพื่อทำกิจกรรม โดยในช่วงแรกเป็นธรรมดาว่าในช่วงแรกผู้ปกครองของเด็กไม่เข้าใจ เพราะเขาจะขาดแรงงานในการช่วยทำงาน แต่เมื่อเชิญผู้ปกครองมาร่วมด้วย บอกให้เห็นความสำคัญขององค์ความรู้ในเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ ท่าทีของทุกฝ่ายเริ่มเปลี่ยนแปลงขึ้น การพัฒนาเยาวชนจึงกลายเป็น “จุดร่วม”ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน “พอได้ทำไปแล้วและเห็นว่ามันสร้างประโยชน์ ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ พัฒนาไปให้ยิ่งขึ้นอีก อบต.ก็พร้อมจะจัดงบประมาณมาส่งเสริม อย่างน้อยๆ ทำให้เด็กได้มีความรู้ไปมั่วสุมตามร้านเกมน้อยลง แต่ที่ยังมีสภาพเหมือนเดิม ไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องปรับปรุงมันก็มีอยู่ไม่น้อย และนั่นเป็นเรื่องที่ชุมชนต้องร่วมมือกันต่อไป” รองนายกฯเล็กยอมรับ หากไม่ว่าผลลัพธ์จะไปไกลแค่ไหนแต่ที่คนในชุมชน ต.เจดีย์คำ สังเกตได้คือผลบวกในด้านจิตใจ เพราะเมื่อได้ร่วมทำกิจกรรมต่อเนื่อง ความสามัคคีเกิดในชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงถ่ายทอดความรู้ จากพ่ออุ้ยแม่อุ้ย (คนเฒ่าคนแก่) ที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาให้แก่เยาวชน เช่นการสานใบลาน ความรู้ท้องถิ่น ให้กับเด็ก สร้างนิสัยจิตอาสา คนในชุมชนในวัยต่างๆจึงมีส่วนร่วมไปพร้อมๆกัน กิจกรรมเล็กๆที่ว่าจึงมีแรงกระเพื่อมใหญ่กว่าที่คิด มุมมองจากหนึ่งในเจ้าของกิจกรรม “น้องเปล” ด.ญ.นิตยา หอมนาน นักเรียนชั้น ป.5 บ้านดอนลาว ต.เจดีย์คำ บอกความเปลี่ยนแปลงของตัวเองว่า การทำกิจกรรมในวันเสาร์อาทิตย์ทำให้การอยู่บ้านเฉยๆ เปลี่ยนเป็นการทำประโยชน์ และเธอยังยื่นชอบการออกไปท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติใกล้ๆ การเรียนรู้งานประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งเมื่อมีกิจกรรมแล้วความต้องการที่จะให้พ่อแม่พ่อแม่ซื้อของเล่นก็เหมือนจะน้อยลง และสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆมันก็เป็นของเล่นได้ ค่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นลดน้อยลง “น้องมิ้ว” ด.ญ.สิรินาถ พระยาชัย ป.6 ที่ทุกคนในครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทั่วไป เล่าว่า แม้จะมีสมาชิกในบ้าน6คน แต่ครอบครัวของเขาไม่ค่อยมีเวลาว่างกันเท่าใดนัก การทำกิจกรรมจึงเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ เหมือนไปโรงเรียน ได้ทำประโยชน์อย่างการกวาดลานวัด สอนน้องที่มีอายุน้อยกว่า “หนูภูมิใจในตัวเอง การทำความดีทำให้เราได้พัฒนาตัวเองในด้านศาสนาด้วย เพราะก่อนหน้านี้หนูติดเกม หนูก็ไม่ได้สนใจการเข้าวัดเลย พอมาร่วมกิจกรรมหนูก็ลดการเล่นลง จากเล่นทุกวันหยุดหนูก็เว้น 2 อาทิตย์ถึงไปเล่นสักครั้งหนึ่ง แค่นั้นก็พอ” ส่วนหนุ่มน้อย “โน๊ต” ชัยวัฒน์ ชิดสนิด ป.6 โรงเรียนร่องค้อม ต.เจดีย์คำ ค้นพบว่าเขาชอบวาดรูปรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด เพราะได้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านยาเสพติด ขณะเดียวกันก็พยายามปรับปรุงตัว หลังก่อนหน้าพ่อแม่ดุมาหลายครั้ง “พอเจอพี่ๆเขาเป็นคนดี ผมก็อยากทำบ้าง อยากปรับปรุงตัวเอง ตั้งใจว่าโตขึ้นจะไม่กินเหล้า สูบบุหรี่ เพราะกลัวเป็นโรค อยากให้ผู้ใหญ่สนับสนุนพวกผมทำกิจกรรมแบบนี้อีก พวกผมอยากเป็นคนดีครับ”
แท็ก ตำบล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ