ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ “บ. บัตรกรุงไทย” ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable” และจัดอันดับหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาทที่ระดับ "BBB+"

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 18, 2013 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “BBB+” ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนสถานภาพที่เข้มแข็งในธุรกิจบัตรเครดิต และคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้น 49.45% ในบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดในด้านต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างสูงของบริษัท และภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อและความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของทั้งอุตสาหกรรม ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาประสิทธิภาพในการจัดเก็บและติดตามหนี้ ตลอดจนคงไว้ซึ่งมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดไปพร้อม ๆ กับการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าธนาคารกรุงไทยจะยังคงให้การสนับสนุนบริษัทอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการเงินและการดำเนินธุรกิจต่อไป บริษัทบัตรกรุงไทยเริ่มจัดตั้งขึ้นในปี 2539 ในฐานะบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% โดยธนาคารกรุงไทย ในช่วงแรกบริษัททำหน้าที่บริหารจัดการสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคารกรุงไทย ต่อมาในปี 2545 ธนาคารกรุงไทยได้โอนสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคารมาให้บริษัท และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการแข่งขัน ในฐานะที่เป็นบริษัทในกลุ่มธนาคารกรุงไทย บริษัทมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศในการขยายฐานลูกค้า โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จำนวนลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัทที่เพิ่มขึ้นกว่า 25% นั้นมาจากช่องทางดังกล่าว นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนจากธนาคารอีกด้วย กล่าวคือ บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อ 18,030 ล้านบาทจากธนาคาร โดยวงเงินดังกล่าวยังไม่ถูกเบิกใช้ ณ สิ้นปี 2555 จากการที่บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายประกอบกับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารกรุงไทย ทำให้ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นมิใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากนัก กล่าวคือ บริษัทมีเงินทุนที่ใช้สนับสนุนสภาพคล่องจากเงินกู้ที่ได้จากสถาบันการเงินหลายแห่งและจากหุ้นกู้ที่มีวันครบกำหนดชำระหนี้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ไม่มียอดเงินกู้จากสถาบันการเงินใดที่มีสัดส่วนสูงมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับยอดเงินกู้โดยรวม อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทใช้การกู้ยืมและการออกตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินทุนหลัก ในขณะที่คู่แข่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าจากการมีฐานเงินฝากเป็นแหล่งเงินทุน ทำให้บริษัทมีความเสียเปรียบด้านต้นทุนทางการเงินซึ่งมีส่วนในการลดทอนความแข็งแกร่งทางธุรกิจไม่มากก็น้อยและทำให้ยากต่อการแข่งขันเพื่อขยายส่วนแบ่งทางการตลาด ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในด้านบัตรเครดิตลดลงเล็กน้อยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทในด้านยอดใช้จ่ายผ่านบัตรได้ลดลงจาก 12.7% ในปี 2551 เหลือ 10.3% ในปี 2555 แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวยอดใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 8% ต่อปีก็ตาม ส่วนยอดลูกหนี้บัตรเครดิตคงค้างก็ลดลงจาก 35,970 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 เหลือ 34,007 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 อันเป็นผลจากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บัตรเครดิตที่ชำระเต็มจำนวน รายได้รวมของบริษัท (ไม่รวมหนี้สูญได้รับคืน) ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มทำการตลาดอย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 โดยมีแผนเชิงรุกอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2556 นี้ ซึ่งนับเป็นความท้าทายต่อผู้บริหารในการที่จะขยายส่วนแบ่งทางการตลาดและทำให้รายได้ของบริษัทกลับมาเติบโตอีกครั้ง ในช่วงต้นปี 2555 บริษัทได้ตัดสินใจโอนงานจัดเก็บและติดตามหนี้กลับเข้ามาบริหารเองทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นให้ความสำคัญกับการจัดเก็บและติดตามหนี้ตั้งแต่ก่อนที่หนี้ปกติจะกลายเป็นหนี้เสียอีกด้วย ประสิทธิภาพในการจัดเก็บและติดตามหนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องดังเห็นได้จากสินเชื่อค้างชำระที่ลดลง อัตราสินเชื่อค้างชำระของบัตรเครดิตลดลงจาก 5.3% ในไตรมาสแรกของปี 2555 เหลือ 2.7% ณ สิ้นปี สินเชื่อส่วนบุคคลก็มีอัตราสินเชื่อค้างชำระที่ลดลงเช่นกันโดยลดจาก 4.7% ในไตรมาสแรกของปี 2555 เหลือ 2.5% ณ สิ้นปี อัตราหนี้สูญตัดบัญชีสุทธิก็ลดลงเหลือ 4.9% ในปี 2555 เทียบกับ 10.0% ในปี 2554 ทั้งนี้ ความสามารถของบริษัทในการควบคุมคุณภาพของสินทรัพย์นับว่ามีผลอย่างมากต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต การขาดทุนที่สูงถึง 1,621 ล้านบาทในปี 2554 ทำให้สถานภาพทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากในด้านฐานเงินทุนซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการก่อหนี้ของบริษัท ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง 26% เทียบกับปีก่อน เหลือ 4,862 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นเป็น 8.8 เท่า ณ สิ้นปี 2554 เทียบกับเกณฑ์ที่บริษัทต้องดำรงไว้ที่ระดับไม่เกิน 10 เท่า ผลกำไร 255 ล้านบาทในปี 2555 ได้ช่วยเพิ่มฐานเงินทุน ณ สิ้นปีเป็น 5,191 ล้านบาท และช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลงเหลือ 8.5 เท่า ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปี 2556 น่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้นโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ระมัดระวัง น่าจะทำให้ระดับฐานเงินทุนของบริษัทกลับขึ้นมาอยู่ในระดับก่อนปี 2554 ได้ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) อันดับเครดิตองค์กร: BBB+ อันดับเครดิตตราสารหนี้: KTC135A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 BBB+ KTC135B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 BBB+ KTC135C: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 BBB+ KTC13NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 7,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 BBB+ KTC148A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 BBB+ KTC14OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 BBB+ KTC158A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB+ KTC15OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB+ KTC168A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB+ หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2562 BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ