วีรกรรมคนตัวเล็กคิดการใหญ่

ข่าวทั่วไป Wednesday May 8, 2013 15:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--สสส. ถ้าคิดแค่ว่าเรื่องใหญ่มันยากเกินกว่าคนอย่างเราจะทำได้ วีรกรรมของคนเล็กๆแต่คิดใหญ่คงไม่เกิดขึ้นเพราะใครจะรู้ว่าจากคนไม่กี่คนเมื่อหลายปีก่อน มาวันนี้ “กลุ่มลูกเหรียง” ขอคิดการใหญ่ด้วยการมีส่วนร่วมกับสถานการณ์ความไม่สงบใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้ วรรณกนก เป๊าะอิแค่ดาโอะ(ชมพู่) แกนนำสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรืออีกชื่อคือ กลุ่มลูกเหรียง เท้าความว่า พวกเธอรวมตัวขึ้นมาจากเด็กที่ทำกิจกรรม เริ่มจากร่วมทำกิจกรรมประเด็นยาเสพติด, อนามัยเจริญพันธ์ และ HIV/Aids จนกระทั่งปี 2547 เป็นต้นมา เกิดความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาชิกในกลุ่มลูกเหรียงเองเริ่มเสียผู้นำครอบครัวไปตั้งแต่ต้นปีจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จนมีโอกาสร่วมโครงการเยี่ยมกลุ่มผู้หญิงหม้ายซึ่งสูญเสียสามีจากเหตุการณ์ในพื้นที่ จึงได้เห็นว่า แต่ละบ้านน้องๆ ที่สูญเสียคนในครอบครัวไปนั้น เสียใจไม่แพ้ผู้ใหญ่ หลายคนเก็บกดและฝังความแค้นไว้เต็มหัวใจ รอวันโตขึ้น รอวันแก้แค้น เราจึงได้แลกเปลี่ยนกันจึงปรึกษากับผู้ใหญ่ว่า อยากจะมีค่ายเยียวยาน้อง ๆ นั่นเพราะมันคงจะดีหากเด็ก ๆจะได้มีพื้นที่พูดคุย บอกเล่า เยียวยาตัวเอง ก่อนที่ความแค้น ความเกลียดชัง จะเติบโตพร้อมตัวเขาและสังคม ในฐานะที่เคยเป็นผู้สูญเสียคนในครอบครัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบเช่นเดียวกัน“เธอ” ย้ำว่า เข้าใจเป็นอย่างดี และโอกาสนี้พวกเธอจึงร่วมออกแบบกิจกรรมโดยเน้นไปที่การเยียวยาสภาพจิตใจของเยาวชนเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่การจัดค่ายในระยะแรกซึ่งเน้นการระบายความทุกข์ของญาติผู้เคราะห์ร้าย ผ่านการเล่า การทำงานศิลปะเพื่อขจัดเวลาแห่งการนึกคิดในสิ่งที่โศกเศร้า ส่วนระยะที่สองจะเริ่มมองไปถึงการวางแผนอนาคต กำหนดเป้าหมายชีวิต แนะแนวการศึกษาซึ่งเยาวชนจะได้ตั้งสติเลือกวิถีของตัวเอง ขณะที่ค่ายในระยะสุดท้ายจะเน้นเรื่องทักษะชีวิต วิชาชีพ เพื่อหารายได้ยืดหยัดด้วยตัวเองต่อไป “จะเป็นญาติพี่น้อง หรือเป็นเหยื่อที่ไหน ไม่มีใครไม่เสียใจกับการสูญเสีย เราเองก็ถือว่าช่วยงานรัฐมาตลอด อยากจะเห็นชุมชนเราดีขึ้น เห็นเด็กเยาวชนมีคุณภาพ แต่เมื่อเหตุการณ์ความไม่สงบยังมีอยู่ต่อเนื่อง เราเห็นว่านี่คือหนึ่งในประเด็นที่กลุ่มลูกเหรียง ที่ทำงานด้านเยาวชนอยู่แล้วจะหันมาให้น้ำหนักกับเรื่องนี้” “จริงอยู่ที่ความรุนแรงทำให้พวกเขาต้องสูญเสีย เราเองก็เสียพี่ชาย เสียคนในครอบครัว มันเป็นความเจ็บปวด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงในลักษณะเดียวกันจะแก้ปัญหาให้เขาได้ และก็แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเห็นความสูญเสียอีกในดินแดนผืนนี้ ความโกรธแค้นชิงชังไม่ได้ช่วยอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เรารู้ กระบวนการของภาครัฐก็ทำไป แต่ถ้าเป็นไปได้สำหรับเยาวชนเป้าหมายสูงสุดเราอยากเห็นการไม่อาฆาต ชิงชัง จะลูกชาวบ้านหรือลูกคนก่อการฯหากสูญเสียความรู้สึกคงไม่ต่างกัน”เธออธิบายเป้าหมายใหญ่ที่เริ่มได้ด้วยคนธรรมดาตัวเล็กๆไม่กี่คน ความตั้งใจและการทำงานหนัก จึงไม่แปลกที่บรรดาองค์กรต่างๆจะมอบรางวัลให้กับกลุ่มลูกเหรียง อย่างล่าสุดกับรางวัลแด่คนหนุ่มสาว ที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งมูลนิโกมล คีมทอง มอบให้ ซึ่งตัวแทนกลุ่มลูกเหรียงรายนี้ บอกว่า ช่วยเป็นกำลังใจ และย้ำว่าเดินมาถูกทาง ที่สำคัญยังเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าแม้จะเป็นเรื่องระดับชาติ แต่ถ้ากล้าจะลงมือทำย่อมช่วยสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมได้เช่นกัน อีกตัวอย่างหนึ่ง "ป๊อก" วีรนันท์ ฮวดศรี วัย 24ปี บัณฑิตหนุ่มจากรั้วพ่อขุนฯ เล่าประสบการณ์เมื่อครั้งทำค่ายอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า พวกเขาเลือกทำค่ายสะท้อนปัญหาสังคมอย่างเรื่องของ “คนจนไร้บ้าน” โดยเลือกพิกัดบริเวณริมคลองหลอด ใกล้สนามหลวงเป็นสถานที่ทำค่ายกับกลุ่มนักศึกษา ทั้งนี้เพราะมองว่าปัญหาคนไร้บ้าน- คนจรจัด คือผลลัพธ์จากเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ราคาผลผลิตการเกษตรที่ตกต่ำ ปัญหาคนว่างงาน กระทั่งปัญหาด้านสภาพจิตใจของคนเมือง “เราเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ มองเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว คนอาจมองว่าเป็นแค่นักศึกษาจะทำอะไรได้เราก็รู้ เพราะปัญหาคนไร้ที่อยู่มันมีมานานแล้ว แต่ข้อมูลด้านใหม่ๆทำให้เราทันทันสถานการณ์ รู้ว่าคนจรจัดบางคนอาจไม่ใช่คนไม่มีบ้านอย่างเดียว พวกเขามีบ้านในต่างจังหวัด แต่อยากมาหางานในกรุงเทพ บ้างก็มาตามหาเพื่อนแล้วไม่พบ บางคนถูกเอารัดเอาเปรียบจนเสียที่ทำกิน และเรายังเคยพบคนที่มีบ้าน มีเงิน แต่อยากมีเพื่อน ไม่อยากอยู่คนเดียว ขณะที่ด้านสุขภาวะอนามัย ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา ไม่ต้องพูดถึง เพราะห่างไกลจากเรื่องสุขลักษณะอย่างสิ้นเชิง พวกนี้คือความจริง ถ้าตั้งต้นด้วยข้อมูลจริง ปัญหาจะแก้ได้ถูกจุด” ไม่นับการเยี่ยมเยียนกลุ่มคนจรจัดที่เขาและเพื่อนทำอยู่แล้ว “ป๊อก”มองว่า ผลงานพวกเขาเมื่อได้เล่าไปสู่วงกว้าง ทำให้สังคมและคนรุ่นใหม่ๆเปลี่ยนทัศนคติกับกลุ่มคนเหล่านี้ จากความหวาดกลัว รังเกียจ กลายเป็นความเข้าใจและร่วมหาวิธีการที่จะให้คนกลุ่มนี้อยู่ร่วมกับสังคมได้ในที่สุด ปัญหาคนไร้บ้านที่อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักศึกษาในตอนแรก จึงเปิด “พื้นที่”ให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วม จริงอยู่ว่ากับเรื่องบางเรื่อง ซับซ้อนด้วยหลากเงื่อนงำหลายมิติแต่พลังของคนเล็กๆก็สามารถทำอะไรได้มากกว่านั่งอยู่เฉยๆเป็นแน่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ