กระทรวงเกษตรฯ ร่วมเปิดงานประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 12 และงาน Horti Asia 2013 สุดยิ่งใหญ่ พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนพัฒนาพืชสวนสู่ AEC ภายใต้สภาวะโลกร้อน

ข่าวทั่วไป Friday May 10, 2013 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย VNU Exhibitions Asia Pacific Co,Ltd และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 12 และงาน Horti Asia 2013 ระหว่างวันที่ 9-12 พฤษภาคม 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและประชุมไบเทค บางนา ภายใต้หัวข้อ “พืชสวนสู่ AEC ภายใต้สภาวะโลกร้อน โดยนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และบรรยายพิเศษ เรื่อง “ประชาคมเศรษฐกิจอาซียนกับพืชสวนไทย” นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจัดงานในครั้งนี้ นับเป็นการกำหนดวิสัยทัศน์ของการประชุมที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community:AEC ) ภายใต้สภาพดินฟ้าอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลง (Climate Change) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการผลิตของพืชผลทุกชนิด ดังนั้น การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเกษตรกร ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัย ค้นคว้า ทดลองที่ได้ดำเนินการมา เผยแพร่ต่อผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อรองรับกับปัญหาภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมทั้งการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะทำให้พืชสวนไทยได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์อันสำคัญที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ นายยุคล กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสำคัญในด้านสุขอนามัย ความปลอดของผู้บริโภค และด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อราคาในการส่งออก โดยไทยมีความพร้อมและศักยภาพในการแข่งขันทางด้านพืชและมีการพัฒนาที่รวดเร็วมาก ทั้งในเรื่องของการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาพันธุ์พืช อย่างไรก็ตาม การแข่งขันทางด้านพืชผักในปัจจุบันมีคุณภาพและมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน ไทยจึงต้องพัฒนาคุณภาพให้มีความปลอดภัยในระดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับการลงทุนเปิดเสรีการเพาะขยายปรับปรุงสายพันธุ์พืชที่ต่างประเทศได้ให้ความสนใจนั้น ไทยต้องพิจารณาถึงความพร้อม และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์พืช ซึ่งเป็นภารกิจของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะเข้ามาดูแลเงื่อนไข และการควบคุมมาตรฐาน ทั้งการผลิตในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ไทย สำหรับปัญหาสภาวะโรคร้อน ได้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการผลิตของพืชผลใน 2 ด้าน คือ 1.ด้านวิชาการ โดยความพร้อมในด้านวิชาการทั้งการพัฒนาพันธุ์พืชให้เหมาะสมและรองรับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งการศึกษาค้นคว้า วิจัยและการดูแลเกี่ยวกับพันธุกรรมพืช จะมีความสำคัญในการเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการเกษตรได้ 2.การจัดการ โดยการบริหารจัดการผลผลิต การแปรรูป การเพิ่มมูลค่าสินค้า การตลาด ล้วนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ หากมีผลผลิตแต่ไม่มีการบริหารจัดการที่ดี หรือไม่มีการตลาดรองรับการผลิตก็จะเกิดปัญหาได้ รัฐบาลจึงได้มีแนวทางในการพัฒนาด้านการเกษตร โดยให้ความสำคัญในการจัดทำโซนนิ่งภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภารกิจอันสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้ดำเนินงานอยู่ขณะนี้ โดยให้ความสำคัญใน 3 ด้าน คือ 1. พื้นที่ โดยการกำหนดพื้นที่ตามศักยภาพของดิน สภาพภูมิอากาศ น้ำ สิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง 2.Community เกี่ยวกับสินค้า โดยพิจารณาหาความเหมาะสมและความเชื่อมโยงในปัจจัยที่จำเป็นของผลผลิต เช่น ทางด้านปศุสัตว์ ต้องพิจารณาว่าสัตว์ชนิดนั้นเหมาะสมกับสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และพื้นที่เลี้ยงแบบใด และปัจจัยที่จะส่งเสริมให้สัตว์ชนิดนั้นมีคุณภาพ ตลอดจนมีตลาดที่รองรับการผลิตด้วย และ 3.การพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ โดยบุคลากรเป็นตัวหลักสำคัญที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร ในส่วนกระบวนการดำเนินงาน ได้ปรับเปลี่ยนจากการสั่งการจากบนสู่ล่าง หรือการสั่งการจากส่วนกลางไปยังระดับพื้นที่ให้ปฏิบัติ เป็นการเพิ่มบทบาทให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้บริหารจัดการในพื้นที่ ตลอดจนเสนอแนวทางในการพัฒนาพื้นที่มายังกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นอกจากนี้ การดำเนินงานในการลดต้นทุนการจัดทำระบบ Logistic จะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าทั้งจากแหล่งผลผลิตไปสู่ผู้บริโภค เพื่อรองรับการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเพื่อให้ไทยได้เป็นผู้นำด้านการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป สำหรับงานแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้แห่งถูมิภาคเอเชีย หรืองานฮอร์ติ เอเชีย 2013 จะมี 140 บริษัทชั้นนำระดับสากลจาก 20 ประเทศทั่วโลก ร่วมโชว์เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่สำหรับพืชสวนที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและคุณภาพผลผลิต โดยมีเทคโนโลยีที่หลากหลายนำมาจัดแสดง อาทิ เทคโนโลยีเพื่อการขยายพันธุ์ เทคโนโลยีด้านการเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีเพื่อการจัดการด้านการเกษตร เทคโนโลยีด้านการค้นคว้า ศึกษา วิจัย เทคโนโลยีเพื่อการจัดการน้ำ เทคโนโลยีสำเร็จรูป เทคโนโลยีเพื่อการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีเพื่อการจัดการอย่างครบวงจรด้านบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ