พม. จับมือภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่จังหวัดระยอง และชลบุรี

ข่าวทั่วไป Friday May 17, 2013 14:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--พม. เมื่อวานนี้ (๑๖ พ.ค.๕๖) นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำคณะผู้บริหาร และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การค้ามนุษย์ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่จังหวัดระยอง และชลบุรี เพื่อนำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของกระทรวงฯ และรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ได้ส่งผลกระทบในทางลบแก่ประเทศไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และกำหนดนโยบายเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำนโยบายไปใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ ที่กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นสำนักงานเลขานุการ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทำหน้าที่ประสานและร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และเอกชน เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ช่วยเหลือ เยียวยา และคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และรณรงค์ สร้างความตระหนัก รับรู้ของประชาชน นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในแผนแม่บทเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี ๒๕๕๖ คือ ๑) การค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงาน ๒) การดูแลแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ ๓) การปรับปรุง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ๔) ระบบการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ๕) การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดี ๖) การอนุญาตให้ผู้เสียหายอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้เป็นการชั่วคราว (ตามมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑) ๗) การค้ามนุษย์กับการท่องเที่ยว ๘) การให้ข้อมูลและภาพลักษณ์ของประเทศไทย และ ๙) ทรัพยากรในการดำเนินงานตามแผนแม่บทเร่งด่วน ซึ่งในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็ได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดประสานการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อทำหน้าที่ประสานการดำเนินงานกับหน่วยงาน องค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักแก่เจ้าของสถานประกอบการ ผู้ประกอบการประมง และแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่ ๗ จังหวัด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง นครศรีธรรมราช สงขลา และสระแก้ว ด้วยแล้ว นายวิเชียร กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เปิดตัว “ศูนย์ช่วยเหลือสังคม” (One Stop Crisis Center : OSCC) HOTLINE ๑๓๐๐ ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการในปัญหาการค้ามนุษย์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การใช้แรงงานเด็ก การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ รวมทั้งผู้ที่ต้องการรับการดูแลจากสังคม โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพหลัก ผ่านโทรศัพท์สายด่วน โทร. ๑๓๐๐ สำหรับรับแจ้งเหตุ ขอรับคำปรึกษา บริการข้อมูลต่างๆ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง นายวิเชียร กล่าวด้วยว่า การเดินทางมาพบปะกับตัวแทนผู้ประกอบการ แรงงานในสถานประกอบการ สื่อมวลชน และพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในพื้นที่จังหวัดระยอง และชลบุรี ครั้งนี้ เพื่อเป็นการเยี่ยมเยียน ประสานการดำเนินงานในระดับพื้นที่ รวมทั้งรวบรวมสถานการณ์ปัญหาและข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าว ไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของกระทรวงฯ และรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น “ปัญหาการล่อลวง กักขัง ทารุณกรรม บังคับค้าประเวณี บังคับขอทาน และบังคับใช้แรงงาน ทั้งหมดคือการค้ามนุษย์ที่ส่งผลร้ายแรงต่อสังคมและประเทศชาติ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด หากพบเห็นเบาะแส หรือต้องการความช่วยเหลือ แจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง” นายวิเชียร กล่าวตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ