วายแอลจี แนะตัดจุดขาดทุนทองคำ หากหลุด 1,150 ดอลลาร์ต่อออนซ์ พร้อมจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ 5 ก.ค.นื้ ชี้วัดทิศทางราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 28, 2013 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--PRdd นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาทองคำอยู่ในทิศทางขาลง ราคาปรับลงต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันราคาทองคำปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก สืบเนื่องมาจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือคิวอีที่มีแนวโน้มว่าจะชะลอในปีนี้และยุติในปีต่อไป โดยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เดินหน้าออกมาสดใสอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่มาผ่านเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มพลิกฟื้นขึ้นมาแล้ว อาทิ เป้ายอดขายบ้านใหม่,ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายหรือตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ทั้งนี้หากนับตั้งแต่ต้นช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันราคาทองคำในตลาดโลกร่วงลงไปแล้วกว่า 28% นับเป็นการปรับตัวลงที่ค่อนข้างรุนแรงมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนและในเดือนมิถุนายน ขณะเดียวกันบรรดาสถาบันชั้นนำต่างออกมาลดการคาดการณ์ราคาทองคำลงในปีนี้ลง ซึ่งได้แก่ โกลด์แมนแซคส์ ได้ปรับลดลงเหลือ 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ยูบีเอส ปรับลดลงเหลือ 1,440 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ดอยซ์แบงก์ ปรับลดเหลือ 1,428 ดอลลาร์ต่อออนซ์ รวมไปถึง มอร์แกน สแตนลีย์ซึ่งได้ปรับลดลงเหลือ 1,409 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยจะเห็นได้ว่าบรรดาสถาบันชั้นนำต่างมีมุมมองเชิงบวกที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน สอดคล้องกันกับกองทุน SPDR ซึ่งได้ลดการถือครองทองคำลงต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี สะท้อนจิตวิทยาของตลาดทองคำได้ในระดับหนึ่ง นางพวรรณ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในช่วงนี้ วายแอลจี แนะนำให้นักลงทุนต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคมนี้ ที่จะมีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมและอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ซึ่งหากยังคงยืนยันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดแรงขายตามออกมาอีก อย่างไรก็ตามเนื่องจากราคาทองคำยังคงทำจุดต่ำสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้แม้จะมีการดีดตัวขึ้นมาบ้างแต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ราคาทองคำสร้างฐานราคาได้ ทั้งนี้กลยุทธ์การลงทุน นักลงทุนอาจรอพิจารณาราคาทองคำในบริเวณ 1,150 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 17,000 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งประเมินว่าเป็นแนวรับสำคัญ หากราคาทองคำพยุงตัวเหนือแนวดังกล่าวอาจเข้าซื้อเพื่อหวังเก็งกำไร โดยตัดขาดทุนทันทีหากหลุด 1,150 ดอลลาร์ต่อออนซ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ