กระทรวงสาธารณสุข แนะ!! นอกจาก 5 ป. 1 ข. ช่วยป้องกันไข้เลือดออก

ข่าวทั่วไป Friday July 19, 2013 10:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--โฟร์ พี แอดส์ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกว่า ขณะนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆและอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 14 ก.ค. 2556 ทั่วประเทศ มีผู้ป่วยสะสม 73,902 ราย เสียชีวิต 73 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มวัยรุ่นช่วงอายุ 15-24 ปี และเมื่อนับรวมแล้วผู้ป่วยจะอยู่ในกลุ่มนักเรียนกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ ป่วยทั้งหมด โดยเฉพาะเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดอันดับหนึ่งของภาคเหนือ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2556 มียอดผู้ป่วยสะสม 3,456 ราย เสียชีวิต 4 ราย พบมากที่สุดที่ อ.แม่สาย ชายแดนไทย-พม่า จำนวน 1,027 ราย เฉพาะสัปดาห์ก่อนหน้านี้ทั้งจังหวัดมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 564 ราย โดยนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ใช้มาตรการที่เข้มข้นในการตรวจสแกนไข้เลือดออกอย่างละเอียดเป็นรายหมู่บ้าน ทั้งในชุมชนต่างด้าวหรือพื้นที่ชายแดน เพื่อเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้หมดสิ้น และเร่งนำผู้ป่วยไข้เลือดออกเข้าสู่กระบวนการรักษา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งตั้ง “จุดตรวจผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก” หรือ “เด็งกี่คอนเนอร์ (Dengue Corner)” ขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายสงสัยเป็นไข้เลือดออกอย่างละเอียด รวดเร็วและรัดกุม เพราะการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกที่แพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ก็เหมือนกับการทำสงคราม เนื่องจากจุดแตกหักของการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกอยู่ที่การตรวจพบผู้ป่วยและนำเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยไข้เลือดออกให้ได้มากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการแสดงของโรคไข้เลือดออก ไม่รู้ตัวว่าป่วย มาพบแพทย์เมื่ออาการหนักมากแล้ว จึงทำให้การรักษาทำได้ไม่ทันเวลาและเกิดการเสียชีวิตในที่สุด อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ขณะลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบว่าที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ตั้งจุดตรวจผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหรือเด็งกี่คอนเนอร์แล้ว โดยผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไข้เลือดออก ที่จุดเด็งกี่คอนเนอร์ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการแสดง 3 ข้อ สามารถสังเกตได้ คือ 1.เป็นไข้ ปวดศีรษะ 2.ปวดเมื่อยตามตัว และ 3.ไม่ไอไม่มีน้ำมูก หากตรวจคัดกรองแล้วพบว่าผู้ป่วยมีจุดแดงๆ เล็กๆ ใต้ผิวหนังของท้องแขนนับได้ตั้งแต่ 10 จุดต่อ 1 ตารางนิ้ว แสดงว่าเข้าข่ายเป็นไข้เลือดออก ต้องนำผู้ป่วยไปเจาะเลือด เพื่อตรวจค่าของเกร็ดเลือดว่าต่ำหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยมีค่าของเกร็ดเลือดต่ำ มีอาการซึม อาเจียน กินนอนไม่ได้ ต้องนำตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้ จึงขอฝากไปถึงประชาชนทุกท่าน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเด็กโดยเฉพาะเด็กอ้วน ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ เมื่อได้รับเชื้อจากการถูกยุงลายกัด จะมีโอกาสป่วยเป็นไข้เลือดออกและเสียชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ หากใครมีประวัติถูกยุงลายกัดและพบอาการที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก คือป่วยมีไข้ กินยาลดไข้แล้วไข้ยังลอยไม่ลด 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนังให้รีบไปที่ “จุดตรวจผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก” หรือ “เด็งกี่คอนเนอร์ (Dengue Corner)” ที่ขณะนี้มีอยู่แทบทุกโรงพยาบาลแล้ว “การป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นไข้เลือดออกวิธีที่ดีที่สุด นอกจากมาตรการ 5ป. 1ข. ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แล้วขอให้เพิ่มอีก 1ท. คือ “ทายากันยุง” เพราะการทายากันยุงจะออกฤทธิ์ได้ ตั้งแต่ 6-8 ชั่วโมง นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้ยุงที่มีเชื้อไข้เลือดออกมากัดเราแล้ว ยังป้องกันไม่ให้ยุงไปกัดคนที่มีเชื้อไข้เลือดออกแล้วไปกัดคนอื่นต่อ ซึ่งจะเป็นการแพร่เชื้อไข้เลือดออกได้อีกทาง ที่สำคัญขอแนะนำพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่นำบุตรหลานไปฝากเลี้ยงไว้ที่ศูนย์เด็กเล็ก ก่อนออกจากบ้านขอให้ทายากันยุงให้บุตรหลาน เพื่อป้องกันการโดนยุงกัด การทายากันยุงให้เด็กๆจะได้ช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อีกวิธีหนึ่ง” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวแนะนำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ