ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท “บ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร” ที่ระดับ “AA-/Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 26, 2013 10:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “AA-” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้และลงทุนตามแผน อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตลอดจนการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย กลยุทธ์ที่เน้นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสัญลักษณ์ และการขยายธุรกิจในต่างประเทศ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัท ตลอดจนความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม ความเสี่ยงจากโรคระบาดในสัตว์ และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนำเข้าของประเทศผู้นำเข้าสินค้า ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจเกษตรอาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะรักษาวินัยทางการเงินและสภาพคล่องทางการเงินอย่างเพียงพอ บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินสูงจากการมีเงินลงทุนและสินทรัพย์ที่มีมูลค่าจำนวนมาก ความยืดหยุ่นนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะตกต่ำตามวัฏจักรในธุรกิจกุ้ง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ วันที่ 11 มีนาคม 2556 กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 45.09% ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือกลุ่มสัตว์บกและกลุ่มสัตว์น้ำ โดยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจฟาร์ม และธุรกิจอาหารพร้อมบริโภค การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรส่งผลให้สินค้าของบริษัทได้มาตรฐานสากลทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับซึ่งสามารถส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญซึ่งได้แก่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เอเชีย และประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทมีการขยายธุรกิจในเชิงภูมิศาสตร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันธุรกิจของบริษัทกระจายอยู่ 12 ประเทศทั่วโลกโดยส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย รายได้จากกิจการในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 45% ของรายได้รวมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 รายได้จากกิจการในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 27% ของรายได้รวม ตามด้วยรายได้จากประเทศเวียดนาม (13%) รายได้ส่วนที่เหลือมาจากกิจการในประเทศตุรกี ไต้หวัน อินเดีย และประเทศอื่น ๆ ซึ่งแต่ละประเทศมีสัดส่วน 1%-5% ของรายได้รวม ธุรกิจอาหารสัตว์เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุดโดยคิดเป็นสัดส่วน 55% ของรายได้รวมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 รายได้จากธุรกิจฟาร์มซึ่งมีลักษณะผันผวนเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์มีสัดส่วน 32% ของรายได้รวม และธุรกิจอาหารพร้อมบริโภคมีสัดส่วน 13% ของรายได้รวมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 บริษัทยังคงนโยบายลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลงและสร้างเสถียรภาพของกระแสเงินสดโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสัญลักษณ์ของบริษัทอีกทั้งยังขยายช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารพร้อมบริโภคให้เป็น 20% ของยอดขายรวมภายในปี 2559 รวมทั้งจะขยายกิจการในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องอีกหลายแห่ง โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกิจการในต่างประเทศเป็น 63% ของยอดขายรวมภายในปี 2559 จาก 55% ในปี 2555 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 บริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโรคตายด่วนในกุ้ง (Early Mortality Syndrome -- EMS) จากข้อมูลที่รวบรวมโดยกรมประมงของประเทศไทย ปริมาณผลผลิตกุ้งของประเทศไทยลดลงราว 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนธุรกิจสัตว์บกในประเทศไทยได้ฟื้นตัวเป็นลำดับจากปัญหาอุปทานส่วนเกิน ตามรายงานของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ราคาเนื้อไก่และเนื้อหมูปรับตัวเพิ่มขึ้น 12%-15% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยในปี 2555 กากถั่วเหลืองซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนอาหารสัตว์ที่สำคัญเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยในปี 2555 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของธุรกิจสัตว์บกยังไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากโรคระบาดในธุรกิจกุ้ง ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมของบริษัทลดลงเป็น 9.0% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 จาก 13.6% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลง 43% เป็น 3,627 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 เทียบกับ 6,344 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทติดลบในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 อย่างไรก็ตาม บริษัทขายเงินลงทุนและรับรู้กำไรจำนวน 2,143 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556เพื่อชดเชยการดำเนินงานที่อ่อนแอ ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 เนื่องจากบริษัทขยายการลงทุนและลงทุนในบริษัทร่วมจำนวนมาก เงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 162,117 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 จาก 146,203 ล้านบาทในสิ้นปี 2555 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงเป็น 2.0 เท่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 เทียบกับ 3.6 เท่าในปี 2555 ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวจากนี้ ราคาเนื้อสัตว์ในประเทศไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ราคาไก่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เคลื่อนไหวอยู่ระดับ 45 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้น 14.0% จากราคาเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 และเพิ่มขึ้น 27.9% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยของปี 2555 ราคาหมูเพิ่มขึ้นเป็น 64 บาทต่อกก. ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เพิ่มขึ้น 3.6% จากราคาเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ราคากากถั่วเหลืองได้ปรับตัวลดลง แต่ต้นทุนที่ลดลงจะสะท้อนในครึ่งหลังของปี 2556 หลังจากต้นทุนสินค้าคงเหลือราคาสูงได้ถูกใช้หมดไปในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 การฟื้นตัวของราคาเนื้อสัตว์และต้นทุนที่ลดลงจะช่วยฟื้นความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจสัตว์บกในประเทศไทย สถานการณ์โรคตายด่วนในกุ้งมีแนวโน้มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังคงต้องใช้เวลาในการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เลี้ยงกุ้งเพื่อเพิ่มปริมาณการเลี้ยง บริษัทได้วางงบประมาณการลงทุนรวมจำนวน 50,000 ล้านบาทในปี 2556-2560 รวมการซื้อกิจการบางส่วน ด้วยแผนการลงทุนนี้หากบริษัทไม่มีแผนการลดหนี้ที่เป็นรูปธรรม จะกดดันให้งบดุลของบริษัทอ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัทให้แข็งแรงขึ้นและลดอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 50% ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) อันดับเครดิตองค์กร: AA- อันดับเครดิตตราสารหนี้: CPF138A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 AA- CPF13NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 AA- CPF14NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 AA- CPF14NB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 AA- CPF15NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 AA- CPF163A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 6,060 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA- CPF17NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AA- CPF185A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 AA- CPF188A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 AA- CPF198A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 AA- CPF218A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA- CPF228A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA- CPF328A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 AA- CPF418A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 AA- CPF41DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 AA- หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2564 AA- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ