สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ประจำสัปดาห์ 19-23 ส.ค. 56 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 26-30 ส.ค. 56

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 26, 2013 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 110.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 105.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 107.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 0.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 115.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 123.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Kirkuk-Ceyhan ของอิรัก (ลำเลียงน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Kirkuk ของอิรักสู่ท่าส่งออกน้ำมันดิบ Ceyhan ในตุรกี: 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ถูกระเบิดโจมตีเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 56 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาซ่อมแซมราว 2 วัน ในกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และในเวลาต่อมามีรายงานเหตุลอบวางระเบิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ Kirkuk-Ceyhan ของอิรักอีก 2 ครั้ง ในช่วงเช้าของวันที่ 21 ส.ค. 56 ทำให้ท่อดังกล่าวไม่สามารถขนส่งน้ำมันดิบได้ ทั้งนี้ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Kirkuk-Ceyhan ของอิรักถูกโจมตีมากกว่า 30 ครั้งแล้วนับจากต้นปี 56 - ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) รายงานบันทึกการประชุม FOMC เดือน ก.ค. 56 ว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับการปรับลดปริมาณอัดฉีดเงินตามมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณหรือ QE3 ขณะที่มีความเห็นเพียงส่วนน้อยที่เห็นด้วยกับการปรับลดปริมาณเข้าซื้อพันธบัตรของมาตรการดังกล่าว - บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียประกาศเหตุสุดวิสัย หรือ Force Majeure สำหรับการส่งมอบน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมดที่มีกำหนดการส่งออกจากท่าส่งออกน้ำมัน Zueitina, Marsa al Brega, Ras Lanuf และ Es Sider เนื่องจากปัญหาคนงานประท้วงทำให้ท่าส่งออกน้ำมันดิบที่สำคัญปิดดำเนินการ - EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ส.ค. 56 ปรับตัวลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 359.1 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ - Markit Economics รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคบริการและภาคการผลิตของยูโรโซน (Composite Purchasing Managers’ Index: PMI) ในเดือน ก.ค. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ - HSBC และ Markit Economics รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเบื้องต้นของจีน (Flash Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ในเดือน ส.ค. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และเป็นครั้งแรกที่ดัชนี PMI อยู่เหนือระดับ 50 จุด ซึ่งแสดงถึงสภาวะเศรษฐกิจขยายตัว เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน เม.ย. 56 - สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 56 ลดลง 1.62% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 29.13 ล้านตัน (212.65 ล้านบาร์เรล) หลังโรงกลั่นในประเทศนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นกว่า 40.3 ล้านตัน หรือ 9.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 56 ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Seaway (400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสหรัฐฯ หยุดดำเนินการชั่วคราวเนื่องจากเหตุขัดข้องทางเทคนิค ขณะขนส่งด้วยอัตรา 322,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 56 ส่งผลกระทบต่อการระบายอุปทานจาก Cushing สู่โรงกลั่นบริเวณแนวชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกบริษัท Enterprise โดยกลับมาดำเนินการช่วงปลายอาทิตย์ที่ผ่านมา - Thomson Reuters ร่วมกับมหาวิทยาลัย Michigan รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้น (Flash Consumer Sentiment Index) ในเดือน ส.ค. 56 ของสหรัฐฯ ลดลง 5.1 จุด จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 80.0 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดขายบ้านใหม่ (New Home Sales) ในสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ 394,000 หน่วยต่อปี ลดลง 13.4% จากเดือนก่อนหน้า ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน - Reuters รายงานท่าส่งออกน้ำมันดิบ Marsa al Brega (90,000 บาร์เรลต่อวัน) ของลิเบียสามารถกลับมาดำเนินการส่งออกน้ำมันดิบได้ - Bloomberg รายงานบริษัท Motiva Enterprises LLC ปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นที่ Convent (255,000 บาร์เรลต่อวัน), รัฐ Louisiana เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้วันที่ 18 ส.ค. 56 ที่ผ่านมา แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯของบริษัท Irving Oil ที่เมือง News Brunswick และโรงกลั่นของบริษัท Monroe ที่รัฐเพนซิลวาเนียปิดซ่อมแซมฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 56 ขณะที่โรงกลั่น 2 แห่งปิดดำเนินการอยู่แล้วตั้งแต่ 18 ส.ค.56 กระทบต่อกำลังการผลิตและอุปทานน้ำมันเบนซินทำให้ราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯแข็งแกร่ง ประกอบกับท่าส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียที่หยุดการส่งออกจากการประท้วงยังไม่กลับมาดำเนินการทั้งหมด ส่วนภาวะเศรษฐกิจของยุโรปมีทิศทางที่ดีขึ้นเพราะเยอรมนีและอังกฤษต่างมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองที่ระดับ 0.7% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทั้งสองประเทศ อีกทั้งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษแสดงความพร้อมในการใช้มาตรการเพิ่มปริมาณเงินสู่ระบบด้วยการทำ Asset Purchase อีกครั้งเพื่อรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ทอดยาวไปตลอดปีนี้ อย่างไรก็ตาม CFTC รายงานนักลงทุนปรับลดการถือสัญญาซื้อน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX และ ICE สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ส.ค. 56 ลง 14,079 สัญญา จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 342,312 สัญญา เป็นการลดลงต่อเนื่องสัปดาห์ที่ 4 และผู้อำนวยการ IMF เห็นว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเกิดวิกฤติครั้งใหม่ได้จากปัญหาในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets ที่เผชิญปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศสั่นคลอน หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ที่ทำให้เกิดภาวะเงินทุนจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ อาทิ อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย ไหลออกกลับสู่สหรัฐฯ ที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพออาจทำให้ประสบปัญหาการระดมเงินทุนผ่านตลาด อนึ่ง IMF แสดงความพร้อมในการรองรับหากเกิดวิกฤตขึ้นโดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรวมทั้งคำปรึกษาทางการเงิน ให้ติดตามการประชุมของนายทหารระดับสูงของสหรัฐฯ และพันธมิตร เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ซาอุดิอาระเบีย และกาตาร์ ในสัปดาห์นี้ที่ประเทศจอร์แดนว่าจะมีท่าทีต่อรัฐบาลซีเรียอย่างไรหลังมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการสู้รบในซีเรียเพราะการใช้อาวุธเคมี ส่วนกรอบราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในสัปดาห์นี้ มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 109.4-112.3 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่วน NYMEX WTI อยู่ที่ 103.5 - 108.05 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และ Dubai อยู่ที่ 106.9-109.8 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงเล็กน้อยเนื่องจากผลตอบแทนค่าการกลั่นในเอเชียลดลงอยู่ที่ระดับ 3.13 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน อย่างไรก็ตามราคามีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปทานตึงตัวโดยมีสาเหตุหลักจากอุปทาน Gasoline ของสหรัฐฯ อาจตึงตัวหลังโรงกลั่น Convent (255,000 บาร์เรล) ในรัฐ Louisiana เกิดเหตุเพลิงไหม้ตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. 56 ต้องปิดซ่อมแซมเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ทั้งนี้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของจีนที่เพิ่มขี้นทำให้ปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในจีน เดือน ก.ค. 56 ลดลง 7.2% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 56.78 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ทางด้านยุโรปความต้องการใช้น้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเป็นฤดูขับรถในรัสเซีย อีกทั้งโรงกลั่นในรัสเซียเพิ่มกำลังการกลั่นเพื่อเก็บกักสำรองสำหรับการกำหนดปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปีในเดือนกันยายน ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 115.28-118.18 เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง โดยมีสาเหตุหลักจากจีนสามารถกลับมาส่งออก Diesel ได้หลังจากใช้โควตาหมดจนไม่สามารถส่งออกได้ในไตรมาสที่ 2/56 ทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมัน Diesel ในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 12% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ปริมาณการกลั่นน้ำมันดีเซลและ Kerosene จากโรงกลั่น Maoming ของ Sinopec ในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 48% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 1.68 ล้านบาร์เรล สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ บ่งชี้ปริมาณน้ำมันดีเซลในตลาดเพียงพอต่อความต้องการใช้ในภูมิภาค ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 123.44- 126.34เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ