“วราเทพ” ประชุมเกษตรอำเภอและเกษตรตำบลภาคใต้ เร่งสร้างความเข้าใจการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวรอบปี 2556/57 เน้นชี้แจงเกษตรกรและใช้ภาพถ่ายดาวเทียมประกอบ หวังได้ข้อมูลที่เป็นจริง หากแจ้งเท็จตัดสิทธิ์ 3 ปี มีความผิดตามกฎหมาย

ข่าวทั่วไป Tuesday September 3, 2013 11:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า ในขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ปี 2556/57 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 - 30 มิถุนายน 2557 และการประชาคมตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 - 14 กรกฎาคม 2557 โดยดำเนินการออกใบรับรองตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 -15 กันยายน 2557 ทั้งนี้ ผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2555/56 ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 - 31 พฤษภาคม 2556 (ตัดยอดข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2556) พบว่า มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 4.21 ล้านครัวเรือน ผ่านประชาคม 4.16 ล้านครัวเรือน ออกใบรับรอง 4.13 ล้านครัวเรือน สำหรับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด (ตัดยอดข้อมูลวันที่ 27 สิงหาคม 2556) พบว่า มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 99,100 ครัวเรือน ผ่านประชาคม 97,508 ครัวเรือน ออกใบรับรอง 95,456 ครัวเรือน นายวราเทพ กล่าวต่อไปว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อซักซ้อมความเข้าใจและขั้นตอนการปฎิบัติในการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวรอบปี 2556/57 ให้แก่เกษตรอำเภอและเกษตรตำบลในภาคใต้ จำนวน .... จังหวัด ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการทบทวนและปรับปรุงการขึ้นทะเบียน ทั้ง 3 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การรับขึ้นทะเบียน จะมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบและตระหนักถึงโทษในการแจ้งข้อมูลหรือใช้เอกสารเท็จ พร้อมทั้งเข้มงวดในการตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งเกษตรกรที่ขอขยายครัวเรือนจะต้องนาเอกสารการรับรองการขยายครัวเรือนจากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านมาแสดง และเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนต้องเป็นหัวหน้าครัวเรือน และเป็นเจ้าของผลผลิตในแปลง หากไม่สามารถมาขึ้นทะเบียนได้ด้วยตนเอง ให้มอบอำนาจให้สมาชิกที่มีชื่อใน ทบก. ไปขึ้นทะเบียนแทน ขั้นตอนที่ 2 การประชาคม แบ่งเป็น การประชาคมกลุ่มย่อย 5 - 10 ราย และลงชื่อรับรองข้อมูลร่วมกัน หากแจ้งข้อมูลเท็จ จะตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการทั้งกลุ่ม และการประชาคมภาพรวม จะมีมาตรการเข้มงวด โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมรายตำบล และแผนที่ภาษีที่ดินของ อบต. (ถ้ามี) ประกอบการประชาคมภาพรวมทุกราย และให้เกษตรกรชี้ที่ตั้งแปลงบนภาพถ่ายดาวเทียม นอกจากนั้น ในการตรวจสอบพื้นที่ จะมีการเพิ่มการสุ่มตรวจวัดพื้นที่ปลูกจาก 10% เป็น 20% โดยเน้นให้ตรวจสอบกลุ่มที่ไม่มีสัญญาเช่า หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์มาแสดงร้อยละ 70 และตรวจสอบพื้นที่จริงด้วย GPS จาก 10% เป็น 20% โดยเน้นให้ตรวจสอบกลุ่มที่ไม่มีสัญญาเช่า หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์มาแสดงร้อยละ 70 และ ขั้นตอนที่ 3 การออกใบรับรอง มีการเข้มงวดการพิมพ์และการจ่ายใบรับรองให้ถูกต้องและทันเวลา ซึ่งเกษตรกรที่มารับใบรับรองแทน จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ที่มารับแทนและเพิ่มคำเตือนในใบรับรอง “ให้ใช้สิทธิจำนำผลผลิตตามจำนวน ที่ได้จากการปลูกจริงเท่านั้น การขายใบรับรองและยินยอมให้ผู้อื่นใช้สิทธิในใบรับรองของตัวเอง มีความผิดตามกฎหมาย” "โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่มุ่งหวังให้มีการยกระดับราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เกษตรกรได้รับประโยชน์และเงินถึงมือเกษตรกรโดยตรง จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงวิธีการรับขึ้นทะเบียน เพื่อให้การดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีประสิทธิภาพ รัดกุม และได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ในการแจ้งข้อมูลที่เป็นจริง โดยไม่ให้ใครมาใช้สิทธิแทน ทั้งนี้ กรณีที่เกษตรกรแจ้งข้อมูลเท็จ จะถูกเพิกถอนสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวจาก เดิม 1 ปี เป็น 3 ปี และมีความผิดตามกฎหมายด้วย" นายวราเทพ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ