“ไข้เลือดออก” ชุมชนบางหว้า ช่วงนี้ยังน่าห่วง

ข่าวทั่วไป Wednesday September 25, 2013 11:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--โฟร์ พี แอดส์ นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างลงพื้นที่ชุมชนโคนอน แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. เพื่อร่วมรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกว่า เนื่องจากช่วงนี้ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะจะมีน้ำขังอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ภาชนะที่ไม่ใช้แล้ว เศษขยะ ถ้วยโฟม แก้วพลาสติก รวมถึงภาชนะที่เก็บน้ำในบ้าน ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของลูกน้ำยุงลาย ตัวการแพร่เชื้อไข้เลือดออก นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดรณรงค์ให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุง ลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เมืองใหญ่ๆ ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เช่น กทม.และปริมณฑล เน้นการดูแลปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบๆ บ้านและภายในบ้านให้สะอาด ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าสำหรับในพื้นที่ กทม. สำนักป้องกันควบคุมโรคที่ 1 ได้ประสานการทำงานกับสำนักอนามัย กทม.อย่างใกล้ชิด โดยในพื้นที่เขตภาษีเจริญ ตั้งแต่ 1 มกราคม — 20 กันยายน 2556 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 164 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 125 รายต่อแสนประชากร โดยพบผู้ป่วยที่แขวงบางหว้ามากที่สุด จำนวน 49 ราย รองลงมาคือ แขวงบางแวก 32 ราย แขวงบางด้วน 27 ราย แขวงปากคลองภาษีเจริญ 22 ราย แขวงคลองขวาง 17 ราย แขวงบางจาก 13 ราย และแขวงคูหาสวรรค์ 4 ราย ในช่วงนี้สถานการณ์ไข้เลือดออกที่ชุมชนบางหว้าจึงน่าห่วงมากที่สุด เพราะถือเป็นขาขึ้นของการระบาด ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายและทุกครัวเรือน ในการกำจัดลูกน้ำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันเช่นนี้ ขอให้ทุกครัวเรือนใส่ใจน้ำที่ตกค้างขังอยู่ในภาชนะต่างๆเป็นพิเศษ เนื่องจากน้ำจะชะล้างไข่ยุงที่ติดอยู่กับผนังภาชนะให้ตกลงไปในน้ำและสามารถฟักเป็นลูกน้ำได้ภายใน 30 นาที จากนั้นจะเติบโตเป็นยุงลายได้ภายใน 7-10 วัน ซึ่งจะส่งผลทำให้ยุงลายเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว หนทางที่จะป้องกันไม่ให้ลูกน้ำเติบโตเป็นยุงลายสามารถทำได้หลายวิธี นอกจากการขัดล้างและเปลี่ยนน้ำในภาชนะที่มีน้ำขังทุกสัปดาห์ ปิดฝาภาชนะที่เก็บกักน้ำหากปิดไม่ได้ให้เปลี่ยนน้ำทิ้งทุกสัปดาห์ การปล่อยปลาหางนกยูงในอ่างบัวหรืออ่างน้ำในบ้านก็เป็นอีกหนึ่งวิธี โดยหากจะช้อนลูกน้ำทิ้งให้นำมาเทใส่อ่างที่มีปลากินลูกน้ำก็จะได้ประโยชน์สองต่อ การทายากันยุงหรือจุดยากันยุง รวมทั้งการนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดทั้งเวลากลางวันและกลางคืนก็ช่วยป้องกันยุงกัดได้เช่นกัน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่าในชุมชนยังมีอีกจุดที่น่าเป็นห่วงคือ ห้องน้ำสาธารณะ เช่น วัด หรือมัสยิด เนื่องจากบางห้องอาจไม่ได้เปิดใช้ หรือทำความสะอาดเป็นประจำ ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของยุงลาย ดังนั้นขอให้ผู้ดูแลรับผิดชอบ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ หากไม่ใช้ห้องน้ำนั้นควรถ่ายน้ำทิ้งให้หมด เพื่อป้องกันยุงวางไข่ ในช่วงนี้ถ้าหากใครป่วยแล้วให้กินยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้เท่านั้น ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกหรือไม่ สังเกตได้จากมีอาการไข้ และถ้ากินยาลดไข้แล้ว ไข้ยังลอยไม่ลด 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการเหล่านี้เป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจและรับการรักษาให้ทันท่วงที ประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกสามารถสอบถามได?ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ