หน่วยงานสังกัดกรมควบคุมโรคสร้างชื่อคว้ารางวัลระดับชาติ

ข่าวทั่วไป Thursday October 3, 2013 14:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--โฟร์ พี แอดส์ สำนักงาน ก.พ.ร. ประกาศผลรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2556 หน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรคสร้างชื่อถึงคว้าสองรางวัล สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก คว้ารางวัล ดีเด่นประเภทบูรณาการการบริการที่เป็นเลิศ ส่วนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ คว้ารางวัลดีเด่น ประเภทนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าผลการประกาศรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติประจำปี 2556 นี้ มีหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรคได้รับรางวัลถึง 2 หน่วยงาน หน่วยงานแรกที่ได้รับรางวัลคือสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก ได้รับรางวัลบูรณาการ การบริการที่เป็นเลิศระดับดีเด่น ชื่อผลงาน “มาลาเรีย : การพัฒนาศักยภาพบริการแบบบูรณาการ” จัดทำโดยนางสาวสายใจ วิลัยการ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ และนางสาวเยาวเรศ วิสูตรโยธิน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สคร.9 จ.พิษณุโลก ซึ่งผลงานนี้เป็นการให้บริการตรวจคัดกรองมาลาเรียและรักษาแบบเชิงรุก (ออกจากคลินิกมาลาเรีย เคลื่อนที่ไปให้บริการในชุมชนที่ห่างไกล) โดยร่วมมือกับเครือข่าย เช่น อบต. ตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก ส่วนหน่วยงานที่สองคือสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรางวัลนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศระดับดีเด่น ชื่อ“กล้องจุลทรรศน์เครือข่าย (Webcam Microscope) นวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยโรคมาลาเรีย จังหวัดแม่ฮ่องสอน” จัดทำโดยนางสาวอังคณา แซ่เจ็ง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ และนางสาวนารถลดา ขันธิกุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สคร. 10 จ.เชียงใหม่ ซึ่งผลงานนี้เป็นนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยโรคมาลาเรีย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อลดระยะเวลาในการยืนยันการวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และเพิ่มความมั่นใจกับบุคลากรในพื้นที่ทุรกันดาร โดยผู้ป่วยในรายที่สงสัยจะได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องผ่านการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการดูเชื้อมาลาเรียด้วยระบบสารสนเทศได้ในทันที รางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติทั้ง 2 รางวัลนี้ ถือเป็นรางวัลระดับประเทศ และเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ทางสำนักงาน ก.พ.ร. มอบให้กับกรมควบคุมโรค ในภาคของหน่วยงานส่วนราชการ ที่มีผลงานการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่พึงพอใจ โดยผลงานจากทั้ง 2 หน่วยงานนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดในการปกป้องประชาชนจากโรคที่กรมควบคุมโรคมีภารกิจหลักในการพัฒนางานป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทยให้เกิดประสิทธิผล ครอบคลุมด้านการพัฒนาวิชาการ การสร้าง/ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย ด้านนางสาวสายใจ วิลัยการ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดพิษณุโลกหนึ่งในผู้จัดทำผลงานเรื่อง “มาลาเรีย : การพัฒนาศักยภาพบริการแบบบูรณาการ” บอกว่าผลงานชิ้นนี้ เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการ การเข้าถึงบริการและการส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคในการรับบริการ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้รับบริการป้องกันควบคุมโรคมาลาเรียที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย และได้รับการดูแลสุขภาพอื่นตามความจำเป็น สามารถเข้าถึงบริการและบริการส่งต่อที่เหมาะสม ลดจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมาลาเรียต่อปี ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ให้การดำเนินงานดูแลสุขภาพของประชาชนเกี่ยวกับโรคมาลาเรียมีความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และกลุ่มเด็ก การบูรณาการทรัพยากรภาครัฐส่งผลทำให้เกิดการลดต้นทุนการดำเนินกิจกรรมสุขภาพ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสุขภาพของชุมชน และที่สำคัญคือประชาชนมีความพึงพอใจต่อบริการที่ได้รับ ส่วนนางสาวนารถลดา ขันธิกุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในผู้จัดทำผลงานเรื่อง “กล้องจุลทรรศน์เครือข่าย (Webcam Microscope) นวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยโรคมาลาเรีย จังหวัดแม่ฮ่องสอน” เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการ และการเสนอแนวคิดใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่มีคุณภาพ โดยการคิดค้นและประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นมาใหม่ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายทอดภาพเชื้อมาลาเรียจากกล้องจุลทรรศน์ ทั้งในรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว สามารถใช้ส่งสัญญาณภาพจากกล้องจุลทรรศน์ผ่านระบบสารสนเทศ ถึงผู้เชี่ยวชาญ เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยโรคมาลาเรีย ที่ตรวจเชื้อผ่านกล้องจุลทรรศน์ โดยส่งภาพเชื้อจากกล้องจุลทรรศน์ที่ติดกล้อง web camera แล้วส่งสัญญาณภาพผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแบบ Real time สามารถสื่อสารเพื่อวินิจฉัยยืนยันผลตรวจทันที จึงเป็นประโยชน์สำหรับวงการแพทย์ในการวินิจฉัยโรค เพื่อนำไปเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจในการรักษาที่รวดเร็วและทันเวลา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยและควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดในชุมชน “นวัตกรรมชิ้นนี้ สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยเชื้อมาลาเรีย เพื่อให้ผู้มารับบริการในพื้นที่ห่างไกลได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง รับการรักษาที่รวดเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดภาวะมาลาเรียรุนแรง ลดการสูญเสียชีวิต ป้องกันการดื้อต่อยาของเชื้อมาลาเรีย ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ