กรุงเทพธุรกิจ-ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจซีอีโอเดือน ก.ย.-ต.ค. ผู้บริหารคาด ภาวะศก.ชะลอตัวรุนแรงขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday October 15, 2013 11:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือน ก.ย.-ต.ค. พบดัชนีเศรษฐกิจติดลบต่อเนื่อง ผู้บริหารคาดภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวจะรุนแรงขึ้น หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) สำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัท จำนวน 403 คน ระหว่างวันที่ 23 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2556 เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่าดัชนีทางเศรษฐกิจในเดือนกันยายนเท่ากับ -7 จากดัชนีเศรษฐกิจในเดือนก่อนที่ระดับ -2 สะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงเดือนที่ผ่านมาค่อนข้างสูง และในเดือนตุลาคมคาดการณ์ว่าจะมีค่า —8 ซึ่งการที่ดัชนีมีค่าติดลบต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของผู้บริหารว่า ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจะมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วง 1 เดือนข้างหน้า สภาพศก.ไทย-กำลังซื้อลด ปัจจัยกระทบ สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจในเดือนกันยายน-ตุลาคม 5 อันดับแรก คือ สภาพเศรษฐกิจไทย ได้ 4.5 คะแนน ความต้องการของตลาดที่ลดลง ได้ 4.3 คะแนน สภาวะเศรษฐกิจของโลก ได้ 4.2 คะแนน ต้นทุนวัตถุดิบและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ได้ 4.0 คะแนนเท่ากัน ค่าครองชีพสูงทำดัชนีรายได้ติดลบ สำหรับดัชนีการทำธุรกิจซึ่งมี 4 ด้านด้วยกัน คือ ดัชนีด้านรายได้ ดัชนีด้านต้นทุน ดัชนีด้านสภาพคล่อง และดัชนีด้านการจ้างงาน พบว่า ดัชนีด้านรายได้มีค่าเป็น -10 และคาดว่าจะปรับลดลงเป็น -11 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาค่าครองชีพที่สูงจนกระทบกำลังซื้อของประชาชน ขณะที่ดัชนีด้านต้นทุนได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 54 จุด แต่ในเดือนตุลาคม คาดว่าดัชนีต้นทุนจะปรับลดลงบ้าง โดยมาอยู่ที่ระดับ 47 จุด การที่ทิศทางของรายได้ลดลง ขณะที่ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีสภาพคล่องมีค่าติดลบ โดยมีค่า -3 ในเดือนกันยายน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเป็น -5 ในเดือนตุลาคม ส่วนดัชนีการจ้างงานในเดือนกันยายนเริ่มติดลบเป็นครั้งแรก โดยมีค่า -3 จุด แต่คาดว่าจะปรับมาอยู่ที่ -1 จุดในเดือนต่อไป เป็นสัญญาณว่า การจ้างงานมีแนวโน้มจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการ จากผลการสำรวจเดือนกันยายนโดยภาพรวมสะท้อนว่า ปัญหาหลักที่ธุรกิจต้องเผชิญ เป็นผลโดยตรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย การลดลงของกำลังซื้อเนื่องจากปัญหาค่าครองชีพ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาสภาพคล่องยังคงความท้าทายของธุรกิจ แต่ภาคธุรกิจได้ระบุว่า ปัญหาการขาดแคลนแหล่งเงินทุนมีผลกับธุรกิจน้อยลงกว่าเดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจส่วนหนึ่งได้ปรับตัวด้วยการหาแหล่งเงินทุนอื่นได้ และปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้มีความสามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องได้มากขึ้น เช่น การลดระยะเวลาในการเรียกเก็บเงิน การขายสินค้าที่สามารถขายได้รวดเร็ว และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหาร ส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันว่า การปรับตัวเหล่านี้เป็นความพยายามของธุรกิจในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น หากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังไม่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นภายใน 3 ถึง 6 เดือนข้างหน้า ปัญหาสภาพคล่องจะกลับมาเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการทำธุรกิจเหมือนช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ