สพฉ.ห่วงอุบัติเหตุจากไฟไหม้ช่วงเทศกาลตรุษจีน ชี้หากเกิดไฟไหม้ให้หมอบคลาน ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกเพื่อป้องกันอันตรายจากควัน

ข่าวทั่วไป Thursday January 30, 2014 08:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ.ห่วงอุบัติเหตุจากไฟไหม้ช่วงเทศกาลตรุษจีน ชี้หากเกิดไฟไหม้ให้หมอบคลาน ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกเพื่อป้องกันอันตรายจากควัน พร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ย้ำเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรแจ้งสายด่วน 1669 นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 29 ม.ค.- 2 ก.พ.57 เป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตามธรรมเนียมของชาวไทยเชื้อสายจีนจะมีการจุดธูปเทียน เผากระดาษเงิน กระดาษทอง จุดประทัด ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และมีสถิติผู้ป่วยฉุกเฉินจากเหตุไฟไหม้สูงกว่าปกติในช่วงดังกล่าว ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันประชาชนจึงควรระมัดระวังในการใช้แก๊สหุงต้ม และไม่ควรจุดธูปเทียนจำนวนมากในครั้งเดียวเพราะอาจทำให้ไฟลามได้ง่าย ควรจุดธูปเทียนในภาชนะทนไฟ ดูแลดับธูปเทียน กระดาษทองให้สนิท ควรประกอบพิธีในพื้นที่โล่งแจ้ง และห่างจากแหล่งเชื้อเพลิง นอกจากนี้ควรเตรียมถังน้ำหรือถังดับเพลิงไว้ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อความไม่ประมาทและเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนการจุดประทัดควรระมัดระวัง ไม่ควรจุดครั้งละมากๆ และหากมีเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้จุดประทัดเล่น เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ทั้งนี้หากเกิดไฟไหม้ ข้อควรปฏิบัติคือ ให้ตั้งสติ โทร199 เพื่อแจ้งดับเพลิง โดยหากประเมินว่าไฟไหม้ในวงแคบ ให้ใช้ถังดับเพลิงดับไฟ แต่หากเพลิงไหม้ในวงกว้างให้รีบอพยพ โดยก่อนเปิดประตูทุกครั้งให้ใช้หลังมือสัมผัสประตูหรือลูกบิด หากพบว่าร้อน ห้ามเปิดให้ใช้เส้นทางอื่นแทน และควรหมอบคลานต่ำ ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูก เพื่อป้องกันอันตรายจากควัน หรือการสำลักควันซึ่งเป็นสาเหตุกว่าร้อยละ 90 ที่ทำให้เสียชีวิตอย่าใช้ลิฟต์และบันไดเลื่อนขณะเกิดเพลิงไหม้ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะหยุดการทำงานเนื่องจากไม่มีกระแสไฟฟ้า ให้ใช้บันไดหนีไฟเท่านั้นอย่างไรก็ตามหากติดอยู่ภายในอาคาร ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันควันไฟ และรีบโทรขอความช่วยเหลือ ส่วนกรณีมีผู้บาดเจ็บ หากอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้วให้ดูแลเบื้องต้นสำหรับผู้ถูกไฟไหม้ โดยถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ถูกไฟเผาไหม้ออก แต่หากถอดเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับและพบว่ามีการตึงรั้งควรหลีกเลี่ยง ห้ามใช้น้ำมัน โลชั่น ยาสีฟันหรือยาปฏิชีวนะทาบนแผลเด็ดขาด แต่หากพบว่ามีบาดแผลไฟไหม้วิกฤติ คือมีแผลขนาดใหญ่ หรือไหม้ลวกทางเดินหายใจ และมีการอาการกลืนลำบาก เสียงแหบ หายใจใจลำบาก หรือมีอาการสูดควันจำนวนมาก ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า หากมีผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับอันตรายจากเหตุประทัดจนอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาด ให้รีบห้ามเลือด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล พันแผลบริเวณเหนือแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ทั้งนี้ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้ นอกจากนี้ควรสังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ควรงดอาหารทางปาก และจิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน ส่วนวิธีการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดคือ ให้นำสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในน้ำแข็ง โดยอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. ส่วนบริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 – 18 ชม. ส่วนการบาดเจ็บทางตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากทันที

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ