สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 3-7 ก.พ. 57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 10-14 ก.พ. 57

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 11, 2014 08:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมันในสัปดาห์ล่าสุด เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 106.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 102.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 97.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 116.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 121.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - ในช่วงต้นสัปดาห์ ผู้ค้าและนักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากวิตกต่อเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets: EM) อาทิ อินเดีย ตุรกี และแอฟริกาใต้ ซึ่งประสบภาวะเงินทุนไหลออก ทำให้เงินสกุลท้องถิ่นอ่อนค่า หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ - เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัว อาทิ สำนักสถิติแห่งชาติรายงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index หรือ PMI) ภาคบริการ ในเดือน ม.ค. 57 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยลดลง 1.2 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 53.4 จุด ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 55 - แหล่ง Buzzard ในทะเลเหนือของยุโรป ซึ่งผลิตน้ำมันดิบได้วันละกว่า 200,000 บาร์เรล กลับมาดำเนินการ หลังประสบปัญหาทางเทคนิคตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 57 ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - กลุ่มผู้จัดการกองทุนเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบ WTI โดยสถานะซื้อสุทธิ (Net Long Position) ในตลาด Nymex ที่นิวยอร์ก และ ICE ที่ลอนดอน ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ก.พ. 57 เพิ่มขึ้น 14,964 สัญญา จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 337,252 สัญญา สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 56 - ภูมิอากาศในสหรัฐฯ ที่ยังหนาวเหน็บ ทำให้อุปสงค์น้ำมันสำหรับทำความอบอุ่น พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ทางการสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูป Distillates เชิงพาณิชย์ บริเวณฝั่งตะวันออก ในสัปดาห์ล่าสุด ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี - รัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตคำร้องขอส่งออกน้ำมันดิบไปยุโรป ที่อังกฤษ และอิตาลี เป็นกรณีพิเศษ ทำให้ผู้ขายได้ประโยชน์จากราคาส่งออกที่สูงกว่าในประเทศ ทั้งนี้กฎหมายสหรัฐฯ ห้ามส่งออกน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศ แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ก่อน ซึ่งนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง และสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ หุ้น และน้ำมัน หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานอัตราว่างงาน เดือน ม.ค. 57 ที่ลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 51 ที่ 6.6% บ่งชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ประกอบกับแหล่ง Buzzard ที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ซึ่งมีความสำคัญต่อการคำนวณราคาน้ำมันดิบ Brent มีแผนหยุดดำเนินการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงในปี 57 รวม 9 สัปดาห์ (2 สัปดาห์ในเดือน พ.ค., 4 สัปดาห์ในเดือน ส.ค. และ 3 สัปดาห์ในเดือน ก.ย.) นานกว่าที่ตลาดคาดว่าจะหยุดเพียง 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ แหล่ง Buzzard หยุดดำเนินการผลิตฉุกเฉินมาแล้ว 4 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตามการประชุมระหว่างอิหร่าน กลุ่ม P5+1 วันที่ 8-9 ก.พ. 57 มีความคืบหน้า และอิหร่านกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงภายในวันที่ 15 พ.ค. 57 ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 106-112 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, น้ำมันดิบ Dubai อยู่ในกรอบ 102-107 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 97-103 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง โดย PAJ รายงานปริมาณสำรอง Gasoline เชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ก.พ. 57 เพิ่มขึ้น 0.8 % จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 12.6 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 เดือน และ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. 57 เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 12.5 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 115.4 - 120.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลลดลง โดย IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. 57 เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 11.7 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 ปี และโรงกลั่นน้ำมัน Yeosu ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ ขนาด 775,000 บาร์เรลต่อวัน เร่งเดินเครื่องกลับมาสู่ระดับ 93 % ตามปกติ หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลจนต้องลดอัตราเดินเครื่องลงเหลือ 78 % เป็นเวลาถึง 5 วัน สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 119.8 - 124.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ