DDC forum ครั้งที่ 2: กรม คร. ชี้มาตรการลดบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ปีนี้

ข่าวทั่วไป Tuesday April 1, 2014 10:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--โฟร์ พื แอดส์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุม DDC Forum ครั้งที่ 2 เรื่อง “ย้อนรอยอุบัติเหตุ...ลดตายสงกรานต์” โดยเน้นใช้ 5 เสาหลัก กับ 4 มาตรการ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากปีใหม่สู่สงกรานต์หลังพบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในช่วงเทศกาลมีความคล้ายกันทุกปี คือ เกิดมากสุดในกลุ่มรถจักรยานยนต์ ร่วมกับการดื่มสุราแล้วขับ การใช้ความเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัย นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม 31 DDC Forum ครั้งที่ 2 เรื่อง “ย้อนรอยอุบัติเหตุ...ลดตายสงกรานต์” ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย คนส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาและเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งความจริงปัจจุบัน พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงมาก โดยเฉพาะในเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ช่วง 7 วันอันตรายมีผู้เสียชีวิตปีละมากกว่า 300 คน เฉลี่ยวันละเกือบ 50 คน ถนนที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ คือ ทางหลวงแผ่นดินร้อยละ 37.9 รองลงมา คือ ถนน อบต./ หมู่บ้าน (ร้อยละ 36.7)ลักษณะของถนนที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ ทางตรง ร้อยละ 64.9 รองลงมา คือ ทางโค้ง (ร้อยละ 19.7) ส่วนสาเหตุที่เกิดจากบุคคล การเมาสุราเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง ร้อยละ 39.1 รองลงมา คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด (ร้อยละ 23.6) ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ ช่วงเวลาตอนบ่าย-ตอนเย็น ประมาณ 14.00–20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาการออกมาเล่นสงกรานต์และเวลาจำหน่ายสุรากรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่า สงกรานต์ ปี 2557 นี้ จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ประมาณ 268 – 334 ราย นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอเสนอวิธีป้องกันอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ในปีนี้โดยใช้ 5 เสาหลัก กับ 4 มาตรการ ซึ่ง 5 เสาหลักได้แก่ 1. การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน 2. ถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย 3. ยานพาหนะปลอดภัย 4. ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย และ 5. การตอบสนองหลังการเกิดอุบัติเหตุ ส่วน 4 มาตรการดำเนินการสำคัญของกรมควบคุมโรค ดังนี้ 1. สนับสนุนให้แต่ละจังหวัดมีฐานข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาปัจจัย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุของตนเอง เพราะแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน2. สนับสนุนการประชาสัมพันธ์หมายเลขสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน เบอร์ 1669 ให้ประชาชนรับทราบผ่านสื่อหลายช่องทาง 3. สำนักงานป้องกันควบคุมโรค และ/หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประชาสัมพันธ์การห้ามขายสุรา และสุ่มตรวจร้านค้าที่จำหน่ายสุราในช่วงเวลาและสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม ตามพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551โดยมีสินบนนำจับสำหรับผู้แจ้งเบาะแสการกระทำผิด และ 4. การมีส่วนร่วมของชุมชน มีมาตรการลดอุบัติเหตุในชุมชนและ/หรือการมีด่านตรวจชุมชนอย่างจริงจังในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่าง เวลา 16.00–22.00 น. นอกจากนี้ อีกประเด็นที่สำคัญ คือ กระบวนการสืบค้นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ คือ การนำข้อมูลหลังจากเกิดอุบัติเหตุแล้ว มาวิเคราะห์ดูว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดได้อย่างไร และมองย้อนกลับไปเพื่อหาสาเหตุว่า อะไรที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการป้องกัน ควบคุม และดูแลรักษา ซึ่งจะมีประโยชน์ในการวางแผนการทำงานในครั้งต่อไป เพราะถ้าเรารู้สาเหตุที่แท้จริง การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งให้การรักษาก็จะถูกจุดและรวดเร็ว ลดการบาดเจ็บรุนแรง ความพิการ และเสียชีวิตหลังเกิดอุบัติเหตุได้ “ในโอกาสนี้ ขอย้ำเตือนว่า คนไทยไม่ควรเจ็บและตายโดยไม่จำเป็น หากท้องถิ่นและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หมั่นย้ำเตือนรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักและร่วมป้องกันอุบัติเหตุด้วยตนเอง ครอบครัว ชุมชนตามมาตรการที่แนะนำ จะสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุ การตาย ได้จำนวนมาก หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ 02-951-0042 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ