ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท และแนวโน้ม “บ. โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น” ที่ “BBB+/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 1, 2014 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” เช่นเดียวกันด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืม และ/หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างแบบครบวงจร (Engineering, Procurement, and Construction: EPC) อีกทั้งยังมีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานวิศวกร และมีโครงการก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) ในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงไปบางส่วนจากลักษณะที่ผันผวนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ความเสี่ยงจากลักษณะงานโครงการ EPC และความเสี่ยงจากการลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในประเทศพม่า และโครงการรับเหมาก่อสร้างในต่างประเทศ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันในโครงการ EPC ภายในประเทศเอาไว้ได้ อัตราส่วนกำไรของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7%-10% ในขณะที่แผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จะกดดันสถานะทางการเงินของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2557-2559 อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะรักษาระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้ต่ำกว่า 1 เท่าเอาไว้ ทั้งนี้ หากบริษัทมีการลงทุนเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลให้อัตราส่วนดังกล่าวสูงเกินกว่า 1.5 เท่าก็อาจทำให้ต้องปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตลง แต่หากบริษัทสามารถปรับฐานรายได้และอัตรากำไรให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็อาจทำให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตได้ บริษัทโตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่นก่อตั้งในปี 2528 จากการร่วมทุนระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) และ Toyo Engineering Corporation (TEC) ประเทศญี่ปุ่น ในสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ โดย ณ เดือนธันวาคม 2556 TEC มีสัดส่วนการถือหุ้น 22.3% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท โดยมี Chiyoda Corporation จากประเทศญี่ปุ่น ถือหุ้นในสัดส่วน 6% และ ITD เหลือสัดส่วนการถือหุ้น 3.3% บริษัทเป็นผู้รับเหมาประเภท EPC ในประเทศไทยที่สามารถรับงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทแม่ในต่างประเทศหรือบริษัทอื่นเพื่อเข้าร่วมประมูลงาน ลูกค้าหลักที่บริษัทให้บริการประกอบด้วยลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ โรงกลั่นน้ำมันและก๊าซ และพลังงาน บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ชื่อเสียงซึ่งเป็นที่ยอมรับในผลงานที่มีคุณภาพของบริษัทมาจากการมีลูกค้าจำนวนมากที่มีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือเป็นสำคัญ ผลงานในอดีตที่เป็นที่ยอมรับประกอบกับความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์น่าจะช่วยให้บริษัทรักษาความเป็นผู้นำในตลาดรับเหมาก่อสร้างประเภท EPC ต่อไปได้ในระยะปานกลาง สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทส่วนหนึ่งมาจากความได้เปรียบด้านต้นทุน โดยต้นทุนแรงงานวิศวกรภายในประเทศของบริษัทนั้นต่ำกว่าคู่แข่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากต่างประเทศ บริษัทมีมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบเพิ่มขึ้นจาก 8 พันล้านบาทในปี 2551 เป็น 1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2555 ณ เดือนธันวาคม 2556 บริษัทมีมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบมูลค่าถึง 2.7 หมื่นล้านบาท โดยมูลค่างานดังกล่าวจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ตั้งแต่ปี 2557-2559 ซึ่งคิดเป็น 70%-80% ของรายได้ในอนาคตของบริษัทตามสมมติฐานของทริสเรทติ้ง บริษัทมีแผนขยายการดำเนินธุรกิจออกเป็น 2 แนวทาง คือ การเพิ่มสัดส่วนรายได้จากงานรับเหมาก่อสร้างประเภท EPC ในต่างประเทศ และการลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้เกิดรายได้ต่อเนื่อง ณ เดือนธันวาคม 2556 บริษัทลงทุน 42% ในหุ้นบุริมสิทธิของ บริษัท นวนครการไฟฟ้า จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 110 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 120 เมกะวัตต์ในเขต Ahlone เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า (โครงการ Ahlone) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 35 เมกะวัตต์ในประเทศญี่ปุ่นด้วย โดยโครงการทั้ง 2 แห่งมีต้นทุนประมาณ 6,000-6,500 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนที่บริษัทลงทุนถือหุ้นในโครงการทั้ง 2 แห่งอยู่ที่โครงการละประมาณ 60% ทั้งนี้ บริษัทจะต้องรับผิดชอบในการก่อสร้างโครงการทั้ง 2 แห่งด้วย การขยายงานรับเหมาก่อสร้างประเภท EPC ในต่างประเทศส่งผลให้ฐานรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่า 15,000 ล้านบาทในปี 2556 บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้อยู่ที่ระดับ 4%-8% ในช่วงปี 2552-2556 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทอย่างน้อยจะอยู่ที่ระดับ 13,000-15,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2557-2559 และยังคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7%-10% ในช่วงปี 2557-2559 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากฐานรายได้ที่สูงขึ้นและรายได้จากโครงการ Ahlone เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี แผนการลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าคาดว่าจะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทเพิ่มทุนจำนวน 2,640 ล้านบาทในปี 2556 จะช่วยเพิ่มความสามารถในการก่อหนี้และเพิ่มขนาดการลงทุนในอนาคต บริษัทคาดว่าจะรักษาระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้ต่ำกว่า 1 เท่าในอนาคต สภาพคล่องของบริษัทเมื่อวัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายแล้ว คาดว่าจะอ่อนแอลงเนื่องจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น แต่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน โดยในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 20% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 4 เท่าหรือมากกว่า บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TTCL) อันดับเครดิตองค์กร: BBB+ อันดับเครดิตตราสารหนี้: หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2560 BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ