สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาอาหารปลอดภัยและอาหารฮาลาลในโรงพยาบาล จังหวัดสตูล เป็นจังหวัดต้นแบบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลทั้งจังหวัด

ข่าวทั่วไป Wednesday April 30, 2014 18:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--สสอป. นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขด้านการเสริมสร้างระบบสุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีการบริหารจัดการสุขภาพอย่างมีธรรมาภิบาล ภายใต้หลักการ “สุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่” (Good Health Starts Here) เพื่อประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพและการรักษาผู้ป่วยในระยะสั้นและระยะยาว ขณะนอนรักษาในโรงพยาบาล ความสำคัญในการรักษาผู้ป่วยนอกจากแพทย์จะรักษาด้วยยาและอาหารให้เป็นไปตามแผนการรักษาทางการแพทย์ ผลดีต่อผู้ป่วยคือ การป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนของโรค ลดอัตราวันครองเตียง หรือลดอัตราการตาย จะทำให้ประหยัดงบประมาณค่ารักษาทั้งภาครัฐและผู้ป่วยได้ ทั้งนี้อาหารจะต้องมีความปลอดภัยจากสารเคมีต่างๆ และให้บริการผู้มารับบริการอย่างเท่าเทียมกัน โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงานในสังกัดโดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน จำนวน ๘๓๔ แห่ง จึงกำหนดมาตรฐานการให้บริการด้านอาหารผู้ป่วยตามแผนการรักษาด้านการแพทย์ และปรับบริบทโรงพยาบาลให้สามารถบริการประชาชนทุกชาติ ทุกศาสนา โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประชาชนชาวมุสลิมที่กระจายอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายการพัฒนาอาหารปลอดภัยและอาหารฮาลาลอย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติอิสลามและถูกต้องตามหลักโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วย สำหรับอาหารฮาลาลได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในการให้การรับรองและมอบเครื่องหมายฮาลาล สำหรับโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานอาหารฮาลาลในปีงบประมาณ ๒๕๕๗ กระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะมีโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ที่เป็นโรงพยาบาลต้นแบบ ด้านฮาลาล ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๒๐ แห่ง โดยกระทรวงจะให้การสนับสนุน/ส่งเสริมด้านงบประมาณและองค์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการตรวจประเมินและให้การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยและอาหารฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจแก่ประชาชนชาวมุสลิมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และจะมีแผนพัฒนาต่อยอดให้โรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางการพัฒนามาตรฐานอาหารปลอดภัยและอาหารฮาลาล ในระดับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community - AEC) ต่อไป คุณเครือวัลย์ เก้าเอี้ยน จากสำบริหารการสาธารณสุข สป. ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาอาหารปลอดภัยและอาหารฮาลาลในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนของสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย(สสอป.) ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า จากการทำงานพัฒนาระบบอาหารปลอดภัยและอาหารฮาลาลในโรงพยาบาลในปีงบประมาณ 2556-2557 กระทรวงสาธารณสุขได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมหลายด้าน อาทิ การสนับสนุนงบประมาณเพื่อปรับปรุงอาคารสถานที่ประกอบอาหารผู้ป่วยให้มีมาตรฐานอาหารปลอดภัยและอาหารฮาลาล ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านมาตรฐานอาหารฮาลาลตาม หลักศาสนบัญญัติอิสลาม ด้านทักษะการตรวจสอบสารปนเปื้อนในวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร จะต้องสะอาดปลอดภัยไม่มีสิ่งปนเปื้อนหรือสารเคมีและสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม โดยกระตุ้นให้ผู้ผลิต/ผู้บริโภคตระหนักถึงความปลอดภัยและส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะสนับสนุนให้ผู้ผลิต/ผู้บริโภคมีอาหารที่ปลอดภัยในพื้นที่อย่างยั่งยืน เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อการป้องกันโรค รวมถึงพัฒนาบุคลากรด้านโภชนาบำบัดเพื่อคิดคำนวณสารอาหารตามแผนการรักษาทางการแพทย์ โดยปีงบประมาณ ๒๕๕๗ จะติดตามประเมินโรงพยาบาลต้นแบบ ด้านฮาลาล(นำร่อง) จำนวน ๒๗ แห่ง โดยจะเน้นการส่งเสริมการพัฒนาโรงพยาบาลให้มีมาตรฐานทั้งระบบได้แก่ มาตรฐานด้านอาคาร มาตรฐานอาหารปลอดภัย มาตรฐานอาหารฮาลาล และมาตรฐานอาหารบำบัดโรคสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล จนได้รับการรับรองอาหารปลอดภัยและอาหารฮาลาล หรือได้รับเครื่องหมายฮาลาล สามารถประกาศเป็นโรงพยาบาลต้นแบบด้านอาหารปลอดภัยและอาหารฮาลาล สำหรับการประเมินโรงพยาบาลที่ผ่านมาจังหวัดสตูลถือว่าเป็นจังหวัดต้นแบบ ด้านอาหารปลอดภัยและอาหารฮาลาลทั้งจังหวัด จากการสัมภาษณ์ นายแพทย์ธีรชัย เอื้ออารยาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสตูล และคุณกอหลี ปัญญายาว ประธานกรรมการอาหารฮาลาลจังหวัด ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนการพัฒนา/การดำเนินงานอย่างจริงจัง ทีมการพัฒนาของโรงพยาบาลสตูลมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้โรงพยาบาลผ่านเกณฑ์มาตรฐานฮาลาล ตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม และได้รับเครื่องหมายฮาลาล มาตรฐานที่โรงพยาบาลได้รับการรับรอง ได้แก่ มาตรฐานด้านอาคารสถานที่ มาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร มาตรฐานอาหารปลอดภัยระดับจังหวัด และมาตรฐานอาหารบำบัดโรค ทั้งนี้จังหวัดสตูลผ่านการประเมินและได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลทุกแห่ง โรงพยาบาลบางแห่งอาจมีข้อที่ควรจะต้องปรับปรุงอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งสามารถแก้ไขและพัฒนาได้ สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและประชากรมุสลิม ในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน และสามารถพัฒนาต่อยอดให้โรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอาหารปลอดภัยและอาหารฮาลาลในโรงพยาบาลระดับประเทศ และพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ