ดีลอยท์เผยผลสำรวจนักการเงินทั่วโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 20, 2014 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--PRDD - ลงความเห็นเศรษฐกิจโลกแค่ผงกหัว แต่ยังไม่ถึงกับฟื้นตัวอย่างเต็มที่ - แนะนักธุรกิจในปี 2557 ต้องระมัดระวังทุกฝีก้าวและห้ามกะพริบตาเด็ดขาด ดีลอยท์ ที่ปรึกษาด้าน ตรวจสอบบัญชี ภาษีและกฎหมาย บริหารความเสี่ยง และ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการธุรกิจและการเงิน ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน (CFO) โดยมีบริษัทดีลอยท์ 22 แห่งทั่วโลก ครอบคลุมทั้งหมด 57 ประเทศ เข้าร่วมในการทำสำรวจในครั้งนี้ โดยทำการสำรวจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ในประเด็นเรื่องความคาดหมายของนักการเงินต่อทิศทางธุรกิจในปี 2557 ผลปรากฏว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทั่วโลกยังไม่กล้ายืนยันเต็มปากว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวตามที่หลายๆ ฝ่ายคาดหมายหรือตั้งหน้าตั้งตารอแต่อย่างใด ตรงกันข้ามการตัดสินใจและการเริ่มดำเนินการต่างๆ ในปี 2557 จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นอย่างเต็มที่ และรวดเร็วจริงหรือไม่เพียงใด โดยรวมแล้วนักการเงินยอมรับว่าเริ่มทำงานต้นปี 2557 ด้วยความหวังสดใสกว่าเมื่อปี 2556 เพราะปัจจัยลบหลายๆอย่างไม่มีแล้ว ได้แก่ วิกฤตการณ์ในยูโรโซนกับวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังมาเกือบตลอดปี อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงระดับมหภาคชนิดอื่นๆ ที่กำลังเรียงหน้าเข้ามา ทำให้ทัศนคติด้านนโยบายการเงินที่เปลี่ยนไป ผู้อำนวยการด้านการเงินในแต่ละบริษัทดูเหมือนจะให้ความสนใจกับปัญหาภายในควบคู่กับการวางแผนเพื่อการเจริญเติบโตขององค์กรมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการฝ่ายการเงินในบางประเทศจัดว่าโชคดีกว่าเนื่องจากมีปัจจัยลบน้อยกว่า เช่น ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกน้อยกว่า งบดุลที่แข็งแกร่งกว่า ตลอดจนสภาวะเครดิตดีกว่า เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของหลายประเทศยังคงมีความหวังเรืองรองในปี 2557 เช่น ในสหราชอาณาจักรมีความสดใสในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบสามปีครึ่ง ทำนองเดียวกัน อเมริกาเหนือ ก็มี ความหวังเพิ่มขึ้นจาก 42% ในไตรมาสที่สามของปี 2556 ขึ้นมาอยู่ที่ 52% ในไตรมาสสุดท้ายของปี แม้แต่ใน กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 44% ของผู้อำนวยการทางการเงิน ก็เห็นพ้องกันว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในปี 2557 น่าจะเป็นไปในทางบวก แม้ว่ามีปัจจัยท้าทายในเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองและความอ่อนไหวของเศรษฐกิจจีน ยิ่งไปกว่านั้นผู้อำนวยการฝ่ายการเงินในออสเตรเลีย อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ปัจจัยน่าหนักใจที่สุดสำหรับนักการเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคือกฎระเบียบในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจชะลอตัวของประเทศจีน นักการเงินระบุว่าการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆคือปัจจัยเสี่ยงที่สุดในการบริหารจัดการด้านการเงินในภูมิภาคนี้ ความจริงที่ปฎิเสธไม่ได้คือ แต่ละประเทศฟื้นตัวไม่เท่ากันและไม่พร้อมกัน ตัวอย่างเช่น ในยุโรปกลางยังมีปัญหาเรื่องภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนซึ่งน่าจะยืดเยื้อออกไปอีก ความหวังปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในหลายๆประเทศ เช่น ในสวิตเซอร์แลนด์ ผู้อำนวยการด้านการเงิน 44% เชื่อว่า การลงทุน จะเติบโตขึ้นในช่วง 12 เดือนนับจากนี้ ขณะที่ผู้อำนวยการทางการเงินในเนเธอร์แลนด์ 90% ทำนายว่าจะมีการควบรวมกิจการหรือเข้าซื้อกิจการมากขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน นักการเงินในออสเตรเลียก็เชื่อว่าจะต้องวางแผนรับมือกับความเสี่ยงทั้งหลายในระดับสูงสุดในรอบสี่ปี ปัญหาสำคัญคือ แต่ละบริษัทจะเร่งรัดให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนหรือบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร และเมื่อใด ขณะนี้ปัจจัยภายในและภายนอกล้วนแต่เอื้อให้เกิดการลงทุนดังนั้นผู้อำนวยการด้านการเงินทุกคนต้องดำเนินบทบาทอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า บริษัทควรจะเดินหน้าเต็มตัวหรือประคับประคองไปอย่างช้าๆ และทุกฝ่ายยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ