ปลวกสร้างพลังงานทดแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 26, 2014 13:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัย จุฬาฯเผยปลวกมีค่าสามารถสร้างพลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ซึ่งน่าจะเป็นเทคโนโลยีอนาคต หลายคนเมื่อได้ยินชื่อ "ปลวก" คงจะเห็นตรงกันว่าไม่มีประโยชน์เสียเลยได้แต่ทำลายกัดกินบ้านเรือนและต้นไม้ต่างๆ แต่ตอนนี้คงต้องเปลี่ยนความคิด เมื่อนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สร้างนวัตกรรมทรงคุณค่าโดยนำปลวกที่ไร้ค่ามาช่วยสร้างพลังงานทดแทนให้กับโลก ศาสตราจารย์ ดร. สุเมธ ชวเดช ร่วมกับคณาจารย์และนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงหลัก ได้แก่ น้ำมันถ่านหิน และก๊าซทั้งภาคการผลิต การคมนาคมขนส่ง และผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งราคาเชื้อเพลิงดังกล่าวมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณสำรองของทรัพยากรณ์เชื้อเพลิงของโลกมีจำกัด นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องพึ่งพิงน้ำมันดิบจากต่างประเทศ แนวคิดหนึ่งในการแก้ไขปัญหาพลังงานอย่างยั่งยืนได้แก่การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน พลังงานหมุนเวียนหมายถึงพลังงานที่สามารถผลิตได้ไม่สิ้นสุด ซึ่งได้แก่ แสงอาทิตย์ ลม น้ำ คลื่น ความร้อนใต้พิภพ ก๊าซชีวภาพ และ ชีวมวล ดังนั้นในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย จึงได้มีการส่งเสริมการการนำพลังงานทดแทนมาใช้ให้มากขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมดังนั้นจึงมีชีวมวลในปริมาณมาก โดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้การเกษตร เช่น ซังข้าวโพด ชานอ้อย ฟางข้าว เป็นต้น ดังนั้นการนำมาใช้ประโยชย์ผลิตพลังงานจึงได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งนี้นอกจากได้ใช้ประโยชย์โดยตรงแล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ปลวกมีความสามารถย่อยไม้ต่างๆเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากมีจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของปลวก เช่นเดียวกับสัตว์เคี้ยวเอืองและสัตว์อีกหลายชนิด จุลินทรีย์เหล่านี้จะทำหน้าที่ย่อยสารเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลสให้เป็นน้ำตาลต่างๆ ดังนั้นปลวกจึงนำน้ำตาลเหล่านี้ไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ ดังนั้นทางกลุ่มวิจัยได้ริเริ่มทำการคัดแยกจุลินทรีย์ที่มีความสามารถย่อยเซลลูโลสจากปลวก โดยมุ่งเน้นกลุ่มแบคทีเรีย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลว่าแบคทีเรียสามารถถูกนำมาเพิ่มจำนวณและถูกควบคุมได้ง่ายกว่าจุลินทรีย์กลุ่มอื่นๆ โดยได้ประสพความสำเร็จในการคัดแยกแบคทีเรียสามสายพันธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยเซลลูโลสเป็นน้ำตาลจากปลวกป่าที่นำมาจากสวนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐมโดยได้นำสายพันธ์แบคทีเรียที่คัดแยกได้มาทดลองย่อยวัสดุเหลือใช้การเกษตรต่างๆ ได้แก่ ชานอ้อย ซังข้าวโพด กากมันสำปะหลัง และฟางช้าว โดยพบว่าสามารถย่อยเซลลูโลสได้สูงถึง 70%ในเวลา 12ชั่งโมง ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ กล่าวเสริมแน่นอนทางกลุ่มได้ประสพความสำเร็จอีกขั้นในการโคลนนิ่ง อีโคไล (E. coli) ซึ่งเป็นแบคทีเรียอยู่ในลำไสใหญ่มนุษย์ โดยนำยีนของแบคทีเรียสายพันธ์ที่คัดแยกได้มาใส่ในแบคทีเรียอีโคไล โดยแบคทีเรียที่โคลนนิ่งนี้จะง่ายต่อการเลี้ยงขยายจำนวนและมีความปลอดภัยกว่าแบคทีเรียดังเดิม โดยจะต้องทำการโคลนนิ่งอีกหลายตัว เพื่อให้สามารถผลิตชนิดน้ำย่อยเซลลูโลสและ เฮมิเซลลูโลสให้ครบทุกตัว ก่อนจะนำไปประยุกข์ใช้งานจริงในการย่อยวัสดุเหลือใช้การเกษตรไปเป็นน้ำตาล จากนั้นเราสามารถนำน้ำตาลที่ผลิตได้ไปผลิตเอทานอลต่อไปโดยเทคโนโลยีทั่วไปที่มีอยู่แล้วได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ