Bualuang House View: โอกาส...เรื่องกิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 24, 2014 13:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--บลจ.บัวหลวง เรื่องกิน... ปัจจัยที่มีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์อย่างมาก โดยเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิต อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และ ยารักษาโรค เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ธุรกิจ Foodservice จะมีตลาดใหญ่มาก จากข้อมูลยูโรมอนิเตอร์ระบุว่า ธุรกิจ Foodservice ทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีมูลค่ามากกว่า GDP ของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศรวมกัน ทวีปเอเชียแปซิฟิกมีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ที่ 42% ของธุรกิจ Foodservice ทั่วโลก ขณะที่ตลาดสหรัฐและยุโรปตะวันตกมีส่วนแบ่งตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ แต่ตลาดสหรัฐและยุโรปตะวันตกมีอัตราเติบโตไม่สูงมาก ทำให้ตลาดประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น เอเชียแปซิฟิก ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งมีอัตราเติบโต 6–9% กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะผลักดันธุรกิจนี้ต่อไป โดย 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าธุรกิจ Foodservice ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นกว่า 440,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจากมูลค่าธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในเอเชียแปซิฟิกเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าธุรกิจ Foodservice ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีประมาณ 126,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าตลาดใกล้เคียงกับประเทศอิตาลี ทั้งที่มีประชากรแค่ 60 ล้านคน เมื่อเทียบกับประชากร 600 ล้านคนในอาเซียน ทำให้ตลาดอาเซียนมีความน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งสังเกตได้จากการเข้ามารุกตลาดของ Global Players มากขึ้น เช่น McDonald's เข้าไปเปิดสาขาแรกที่นครโฮจิมินห์ซิตี้ในประเทศเวียดนาม หลังจาก Yum! Brands, Burger King และ Starbucks เข้าไปตั้งแต่ปี 2540 2554 และ 2555 ตามลำดับ นอกจากขนาดของประชากรแล้ว ยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ Foodservice อาทิ - วิถีชีวิตและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น ประชากรย้ายเข้ามาในเมืองมากขึ้นเพื่อแสวงหาโอกาสให้มีรายได้ที่มากขึ้น ทำให้มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ในขณะที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ทำให้การทำอาหารเอง แล้วกินทั้งครอบครัวไม่คุ้มเหมือนสมัยก่อน ผู้บริโภคจึงยอมจ่ายเงินกินอาหารนอกบ้านที่อร่อยกว่าและสบายกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ร้านอาหารยังเป็นแหล่งในการพบปะสังสรรค์พร้อมกับพักผ่อนไปในตัว ทำให้ร้านอาหารในปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของคนเมือง จากข้อมูลของ UN ระบุว่า Urbanization rate ของประเทศแถบนี้ยังค่อนข้างต่ำ (45% ในอาเซียน และ 34% ประเทศไทย) เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว (78%) ทำให้ชุมชนเมืองยังมีโอกาสเติบขึ้นอีกมาก โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา มีประชากรอาเซียนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นเกือบ 30 ล้านคน โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่มีประชากรย้ายเข้ามาอยู่ในตัวเมืองถึง 9 ล้านคน - พฤติกรรมนิยมทานอาหารนอกบ้าน อ้างอิงข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ ประชากรอาเซียนนิยมในการใช้จ่ายกับร้านอาหารมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่นิยมในการใช้จ่ายกับร้านอาหารมากเป็นอันดับสองในโลก - ประชากรยังอายุน้อยมาก โดยกว่าครึ่งของประชากรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม มีอายุน้อยกว่า 30 ปี และ ฟิลิปปินส์มีประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 14 ปี ถึง 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งโดยปกติแล้วประชากรที่อายุน้อยจะเปิดรับวัฒธรรมอาหารใหม่ๆ และเข้าถึงเทคโนโลยีได้ดีกว่า ทำให้ธุรกิจ Foodservice ต่างชาติสามารถใช้การตลาดสมัยใหม่ เช่น โซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้ดีกว่าในขณะที่ลูกค้าก็เปิดใจยอมรับมากกว่า ถ้าแบ่งธุรกิจ Foodservice ออกเป็นธุรกิจที่มีแบรนด์กับไม่มีแบรนด์ ธุรกิจ Foodservice ที่มีแบรนด์ในอาเซียนมีสัดส่วนทางการตลาดอยู่ประมาณ17% โดยเมื่อเทียบกับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น พบว่า ธุรกิจ Foodservice ที่มีแบรนด์ครองตลาดในสัดส่วนถึง 53% 37% และ 47% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า ASEAN ยังมีโอกาสให้ธุรกิจ Foodservice ที่มีแบรนด์เข้าไปเจาะตลาดได้อีกมาก โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง McDonald's และ Yum! Brands ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 และ 2 ของมูลค่าธุรกิจ Foodservice ที่มีแบรนด์ทั่วโลกในขณะนี้ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจ Foodservice ที่มีแบรนด์สามารถเติบโตได้ดีกว่าธุรกิจที่ไม่มีแบรนด์ โดยในอาเซียน กลุ่มมีแบรนด์สามารถเติบโตได้ 8.3% ต่อปี ขณะที่กลุ่มไม่มีแบรนด์สามารถเติบโตได้ 6.3% ต่อปี ประเทศที่เติบโตดีที่สุดคือประเทศเวียดนามที่กลุ่มมีแบรนด์เติบโตเฉลี่ยถึง 27.1% ต่อปี ขณะที่กลุ่มไม่มี แบรนด์สามารถเติบโตได้ 11.2% ต่อปี ธุรกิจ Foodservice ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในอาเซียน ขณะนี้คือ Yum! Brands โดยแย่งอันดับหนึ่งมาจาก McDonald's เจ้าของแชมป์เก่าในปี 2551 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า มีไม่กี่ที่ในโลกที่ McDonald's เป็นรอง Yum! Brands และมีไม่กี่ประเทศในโลกที่ McDonald's จะเป็นรองร้านฟาสต์ฟู้ดท้องถิ่นอย่างในประเทศฟิลิปปินส์ที่ Jollibee มียอดขายสูงกว่า McDonald's กว่าเท่าตัวและช่องว่างนี้ไม่ได้มีที่ท่าว่าจะลดลง ตลาด Foodservice ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก รวมถึงช่องว่างในตลาดยังมีอยู่มาก มีผู้เล่นจำนวนมากโดยที่ไม่มีบริษัทไหนที่จะครอบงำธุรกิจได้เลย ความต้องการของผู้ซื้อหรือผู้บริโภคนั้นมีความหลากหลาย คนกินอาหารก็ต้องการอาหารที่มีรสชาติแตกต่างกันตลอดทั้งสัปดาห์ เดือน และปี ความสามารถที่จะสนองความต้องการทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ทำให้ตลาดถูกแชร์ออกไปมากเช่นกัน ธุรกิจ Chain Restaurant ที่มีแบรนด์ที่จึงได้เปรียบ Economy of scale ซึ่งจะเห็นได้ชัดในช่วงวิกฤติ โดยร้านที่มีแบรนด์แข็งแกร่งจะฝ่ามรสุมไปได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่มีแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงน้ำท่วมในประเทศไทย ร้านอาหารหลายเจ้าเจอพิษเศรษฐกิจกับภัยน้ำท่วมจนธุรกิจเสียหายหนักจนกลับมาได้ยาก หรือใช้เวลานานกว่าจะกลับมาได้ ซึ่งวิกฤติเหล่านี้ก็ได้สร้างโอกาสให้กลุ่มที่มีแบรนด์เข้ามาแย่งชิงตลาดของธุรกิจ Foodservice ที่ไม่มีแบรนด์ อย่างไรก็ดี บริษัทที่มีแบรนด์ระดับโลกหลายๆที่ ต้องปรับตัว เพราะ - การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น McDonald’s มีอัตราเติบโตของยอดขายของสาขาเดิมติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี จากการรุกตลาดทั้งจาก Global Brands เช่น Burger King, Wendy และ Local Brands เช่น Jollibee, Dico’s - ความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งบริษัทต่างชาติต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ โดยการที่จะเป็น Global Brands ได้จะต้อง Think Global, Act Local ซึ่ง Yum! Brands ได้พยายามทำมาโดยตลอด เช่น ในประเทศไทยจะมีเมนูข้าวยำ ประเทศสิงคโปร์จะเป็นข้าวมันไก่ทอด - พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ปัจจุบัน 81% ของร้านอาหารส่วนใหญ่ในโลกนี้จะอยู่ในรูปแบบร้านที่ตั้งขึ้นมาเดี่ยวๆ (Stand-alone) ขณะที่ร้านที่ตั้งอยู่ในห้างมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การไปห้างสรรพสินค้านั้นส่วนใหญ่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคมากกว่าที่จะไปร้าน Stand-alone เช่น มีความหลากหลายของร้านให้ผู้บริโภคได้เลือกสรร ที่จอดรถที่สะดวกสะบาย นอกจากนั้น ร้านอาหารยังได้ประโยชน์จากการใช้เงินลงทุนที่ต่ำกว่าเพราะร้านพวกนี้ไม่ต้องซื้อที่ดินหรือลงทุนสร้างร้าน ทำให้การขยายตัวหรือเพิ่มยอดขายนั้น ใช้เงินลงทุนไม่มากนักเมื่อเทียบกับยอดขายหรือเทียบกับกำไรที่จะได้ ธุรกิจ Foodservice ท้องถิ่นหลายเจ้าเองก็พยายามพัฒนาตนเองให้แข่งขันกับ Global Players ได้และเมื่อพัฒนาตัวเองจนฐานที่มั่นแข็งแกร่งแล้ว ก็มองกลับไปยังต่างประเทศเพื่อที่จะแย่งชิงเค้กก้อนนี้ในต่างประเทศเช่นกัน Jollibee ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดของฟิลิปปินส์ที่ซื้อกิจการร้านอาหารมากมายทั้งในจีน เวียดนามพร้อมกับเข้าไปบุกตลาดอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดธุรกิจฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่หลายเจ้า โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะมีอัตราส่วนจำนวนร้านในต่างประเทศต่อร้านในประเทศอยู่ที่ 50:50 ภายในปี 2563 หลายบริษัทในประเทศไทยก็พยายามที่จะบุกตลาดต่างประเทศเช่นกัน เช่น MK สุกี้เข้าไปเปิดในญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ไก่ย่างห้าดาวเข้าไปบุกตลาดอินเดีย Minor Group ได้ขยายสาขาเข้าไปยัง จีน ตะวันออกกลาง แอฟริกา และ ออสตราเลเซีย เพื่อหวังแบ่งเค้กก้อนใหญ่ก้อนนี้เช่นกัน จะเห็นได้ว่าการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคนี้ และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ยังคงเข้มข้นและรุนแรง โดยผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในปรับกลยุทธให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เพื่อให้บริษัท พร้อมรุก กับโอกาสในตลาดที่จะยังคงเติบโตได้ดีในภูมิภาคนี้ ซึ่งตลาดนี้ยังอยู่ในวัยกระเตาะที่ยังเติบโตได้อีกมาก โดยพิจารณาได้จากหลายๆ ปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้น เช่น Urbanization rate อัตราส่วนของธุรกิจที่มีแบรนด์ พฤติกรรมชอบทานอาหารนอกบ้านของคนในภูมิภาคนี้ และ พร้อมรับ กับคู่แข่งที่เล็งเห็นโอกาสและพร้อมจะเข้ามาไขว่คว้าโอกาสในภูมิภาคนี้เช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ