พพ. แย้มข่าวดี ความร่วมมือส่งเสริมพลังงานทดแทนไทย - สหรัฐชื่นมื่น ชี้เกิดกรอบความร่วมมือ 3 ด้านสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 13, 2014 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--ข่าวกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พพ. แย้มข่าวดี ความร่วมมือส่งเสริมพลังงานทดแทนไทย - สหรัฐชื่นมื่น ชี้เกิดกรอบความร่วมมือ 3 ด้านสำคัญ พร้อมส่งไทยเดินหน้าผลิตพลังงานชีวภาพ พัฒนาเทคโนโลยีแบตตารี่ และวางแผนระบบ Smart grid ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนไทยก้าวไกลในอนาคต นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงพลังงานได้จัดการประชุมความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน (Thai – U.S. Dialogue on Renewable Energy Cooperation) โดยถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือเพิ่มขึ้นกับสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพของไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาหรือ ATPAC(Association of Thai Professionals in America –Canada) ที่ได้จัดสัมมนาประจำปีกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงพลังงานประเทศสหรัฐอเมริกา(US Department of Energy) เข้าร่วมด้วย โดยการประชุมฯ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสในการหารือแลกเปลี่ยนความรู้ครั้งสำคัญระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา นักวิจัยและภาคเอกชนเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนของไทยในอนาคต ทั้งนี้ สาระสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในส่วนที่ประเทศไทยสนใจ และคาดว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถให้การสนับสนุนได้นั้น ภายหลังการประชุมหารือเบื้องต้นได้กรอบแนวคิดความร่วมมือ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.) ประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Bio Energy)ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาการผลิตน้ำมันจากสาหร่าย และเอทานอลจากฟางข้าว 2.) กรอบแนวทางความร่วมมือกันในเรื่องเทคโนโลยีการสะสมพลังงาน (Energy storage) หรือการพัฒนาระบบแบตตารี่ โดยสหรัฐถือเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านแบตตารี่ที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก และหากมีการศึกษาร่วมกันจริงจัง จะทำให้ไทยได้ประโยชน์เพราะระบบสะสมพลังงานนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาพลังงานทดแทนในอนาคต3.) ความร่วมมือในระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ(Smart grid) ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานในประเทศไทยอยู่ในระยะเริ่มต้นร่างแผนแม่บทโครงการเพื่อวางแผนใช้ระบบSmart grid นี้ในอนาคต แต่ในสหรัฐ มีความก้าวหน้าในเรื่อง Smart gridดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง และปัจจุบันเริ่มทดสอบการใช้ระบบต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จึงเห็นควรให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ ของระบบSmart grid นี้ โดยสหรัฐพร้อมจะชวนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นเครือข่ายISGAN หรือเครือข่าย Smart gridระดับนานาชาติ ซึ่งจะช่วยให้ไทยได้เชื่อมโยงความรู้ด้าน Smart grid จากสหรัฐและทั่วโลกมาไทยได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น่ นอกจากนี้ ในการประชุม ฯ ครั้งนี้ ยังมีเรื่องสำคัญอีกประการคือ การระดมความเห็นในเรื่องโรงกลั่นเชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Refinery) โดยใช้เทคโนโลยีครบวงจรแบบใหม่ และถือเป็นเทคโนโลยีซึ่งประเทศไทยให้ความสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งสหรัฐได้พัฒนาต่อยอดจนประสบความสำเร็จแล้ว 4 แห่ง โดยเฉพาะที่รัฐแคนซัส ที่มีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากข้าวโพด และอ้อยแบบครบวงจร โดยมีข่าวดีว่า หากนักวิจัย และภาคเอกชนไทยสนใจแนวคิดนี้ ทางATPAC พร้อมจะจัดให้มีการเยี่ยมชมเทคโนโลยีเหล่านี้ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยคาดว่าการเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศสหรัฐครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพของไทยที่มีศักยภาพมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ