วว. เปิดศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมการยืดอายุลำไย/โรงรมก๊าซซัลเฟอร์ฯ ระบบควบคุมสภาวะต้นแบบแห่งแรกของไทย

ข่าวทั่วไป Thursday August 14, 2014 14:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือจังหวัดลำพูน และ อบต. เหล่ายาว เปิดตัวศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมการยืดอายุลำไย ที่มีโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ระบบควบคุมสภาวะต้นแบบแห่งแรกของไทยซึ่งควบคุมสารตกค้างในเนื้อลำไยได้ หวังแก้ปัญหาการส่งออก เพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรลำไยในการใช้เทคโนโลยีเหมาะสม ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศ นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า ปัจจุบันประเทศคู่ค้ามีมาตรฐานการควบคุมปริมาณซัลเฟอร์ตกค้างในเนื้อลำไยที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ทำให้ลำไยของไทยที่ส่งไปยังต่างประเทศคู่ค้าถูกส่งคืน เมื่อตรวจพบสารตกค้างเกินกว่าค่ามาตราฐานที่กำหนด จึงส่งผลให้ยอดลำไยส่งออกในปีที่ผ่านมาลดลง จากปัญหาดังกล่าว วว. จึงได้ดำเนินงาน “โครงการยืดอายุลำไยส่งออกเพื่อแก้ไขลำไยล้นตลาดด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำร่องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเอกชนและชุมชนเกษตรกรลำไย ให้รู้จักการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรลำไยให้รู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับแก้ไขปัญหาเน่าเสียของลำไยจากสภาวะลำไยล้นตลาด “...ศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมการยืดอายุลำไยฯ ที่ วว. ออกแบบและพัฒนาขึ้นนี้ จะจัดสร้างขึ้น ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลเหล่ายาว ต.เหล่ายาว อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน โดยภายในศูนย์ฯ จะประกอบด้วยโรงรมต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ที่นำเทคโนโลยีการรมควันลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของ วว. ซึ่งมีประสิทธิภาพในการควบคุมปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อลำไยได้ ช่วยลดการใช้กำมะถัน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถการส่งออกลำไยที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ ตลอดจนยังจะเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา ร่วมศึกษาและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว นายแสวง เกิดประทุม นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิศวกรรม วว. กล่าวว่า ได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนาระบบการรมควันด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์แบบใหม่ ซึ่งระบบดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ 1.ระบบการรมควันด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่สามารถควบคุมปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในเนื้อลำไย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยออกแบบเป็นห้องรมควันแบบขับอากาศ ที่สามารถปรับทิศทางการไหลของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ควบคุมสภาวะพร้อมเครื่องผลิตก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่สามารถควบคุมสภาวะได้ (Reversible force draft controlled Sulfur dioxide fumigation system) โดยการผลิตก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เก็บในถังพักที่ควบคุมสภาวะได้ ก่อนอัดอากาศหมุนเวียนเข้าห้องรม ซึ่งจะสามารถควบคุมสารตกค้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.ระบบป้องกันการรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากกระบวนการและในพื้นที่ทำงานในโรงงาน จนมีปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในระดับต่ำ ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนงาน และผู้อาศัยโดยรอบโรงงาน ตามมาตรฐานที่กำหนดการรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบริเวณพื้นที่ทำงาน เช่น อาคารรมซัลเฟอร์ อาคารสำนักงาน จะมีปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพื้นที่ทำงานไม่เกินมาตรฐานของ WHO ว่าในพื้นที่ทำงานต้องไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร (อากาศ) 3.ระบบการควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกนอกโรงงาน โดยมีระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ให้เหลือในระดับต่ำก่อนปล่อยออกนอกโรงงานจนไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ของ วว. เป็นระบบที่มีการหมุนเวียนน้ำกลับไปใช้ซ้ำไม่มีการระบายน้ำทิ้ง และยังได้ผลพลอยได้เป็นยิปซั่ม ที่สามารถใช้เป็นวัสดุปรับปรุงสภาพดินได้อีกด้วย นักวิจัยอาวุโส วว. กล่าวว่า ในการจัดสร้างโรงงานต้นแบบนี้ วว. จะคำนึงถึง 4 มาตรฐานควบคู่ไปด้วย คือ... มาตรฐานที่ 1 ควบคุมซัลเฟอร์ตกค้างในเนื้อลำไยได้ตามมาตรฐานที่ลูกค้ากำหนด คือ 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (เนื้อลำไย) มาตรฐานที่ 2 การควบคุมการรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบริเวณพื้นที่ทำงาน เช่น อาคารรมซัลเฟอร์ อาคารสำนักงาน จะไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดของ WHO ว่าในพื้นที่ทำงานต้องไม่เกิน 5 มก./ลบ.ม (อากาศ) มาตรฐานที่ 3 ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากระบบกำจัดก๊าซ ซึ่ง วว.จะมีระบบกำจัดก๊าซให้อยู่ในระดับที่ต่ำ และเป็นส่วนที่จะปล่อยสู่บรรยากาศจากปล่องกำจัดของโรงรม วว. จะไม่เกินกว่า 400 ppm ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่กำหนดของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มาตรฐานที่ 4 การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์จะต้องไม่ทำให้ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศทั่วไป เช่น ชุมชน แหล่งที่อยู่อาศัยโดยรอบ เป็นไปตามคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดไห้มีค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 0.30 มก./ลบ.ม. (อากาศ) นายสายันต์ ตันพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. กล่าวว่า ลำไยเป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญที่รัฐบาลจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าเพื่อการส่งออก มูลค่าการส่งออกกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2556a) โดยส่งออกในรูปลำไยสดมากที่สุด รองลงมาคืออบแห้ง แช่แข็งและลำไยกระป๋อง ตลาดส่งออกหลักได้แก่ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยตลาดจีนและฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 67 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกลำไยกระจายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แหล่งปลูกลำไยที่สำคัญคือจังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ลำปาง แพร่ และน่าน นอกนั้นปลูกในภาคอื่นๆ เช่น เลย จันทบุรี และสระแก้ว นอกจากนี้ลำไยยังเป็นผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง จึงเกิดปัญหาการเน่าเสียจากเชื้อจุลินทรัย์ได้ง่าย ไม่สามารถเก็บได้นาน และทำให้เป็นปัญหาในการส่งออกไปยังประเทศที่ห่างไกล เกิดการเน่าเสียระหว่างการขนส่งและวางขายในตลาดได้ไม่นาน ดังนั้นจึงต้องมีการฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียด้วยวิธีการรมควันด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อยืดอายุการเก็บหลังการเก็บเกียว ให้สามารถเก็บได้นานขึ้น 30-45 วัน จึงจะสามารถส่งไปขายยังตลาดที่อยู่ห่างไกลได้ ทำให้ได้เงินตราต่างประเทศหลายพันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ เทคโนโลยีการยืดอายุการเก็บรักษาลำไยด้วยการรมลำไยด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้น วว. ได้พัฒนาและเผยแพร่ให้แก่ผู้ประกอบการสำหรับใช้รมลำไยเพื่อการส่งออกมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลงานวิจัย วว. ได้ที่ Call center โทร. 0 2577 9300 หรือที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 www.tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ