กรมพัฒน์ฯ เตือน! SMEs ไทยเร่งหาช่องทางการค้าใหม่ขยายตลาด โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ หวั่น! หลังเปิดเสรีอาเซียนผู้ประกอบการไทยก้าวไม่ทันประเทศเพื่อนบ้าน

ข่าวทั่วไป Monday August 25, 2014 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--เฟมัส อินฟินิตี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตือน! ผู้ประกอบการ SMEs ไทยเร่งหาช่องทางใหม่ในการขยายตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยเฉพาะการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ หลังพบผู้ประกอบการประเทศเพื่อนบ้านใช้ช่องทางออนไลน์ขยายธุรกิจทุกด้านเพิ่มมากขึ้น หวั่น! หลังเปิดเสรีอาเซียนผู้ประกอบการไทยก้าวตามประเทศเพื่อนบ้านไม่ทัน หากยังไม่พัฒนาช่องทางการค้าให้มีความหลากหลาย กรมฯ ไม่รอช้าจัดงาน e-Commerce Day 2014 แสดงศักยภาพอี-คอมเมิร์ซไทย หวัง SMEs ไทยเห็นความสำคัญและเปิดใจใช้ช่องทางออนไลน์ขยายธุรกิจเพิ่มมากขึ้น รองรับตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่กว่า 600 ล้านคนในภูมิภาคอาเซียน นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน e-Commerce Day 2014 ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่า กรมฯ รู้สึกเป็นห่วงผู้ประกอบการ SMEs ไทย เรื่องการพัฒนาและหาช่องทางการค้าใหม่ๆ ในการขยายตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า หลังพบผู้ประกอบการประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนใช้ช่องทางออนไลน์เจาะกลุ่มตลาดลูกค้าและขยายธุรกิจทุกด้านเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs ไทย จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและหาช่องทางการค้าใหม่ๆ เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคที่จะมีขนาดใหญ่มากขึ้น หลังเปิดการค้าเสรีอาเซียนในปี 2558 ซึ่งหากผู้ประกอบการ SMEs ไทยยังคงนิ่งดูดายไม่พัฒนาและหาช่องทางการค้าใหม่ในการขยายธุรกิจและขยายตลาด อาจก้าวตามประเทศเพื่อนบ้านไม่ทัน ทำให้เสียโอกาสทางการค้าในอนาคต “กรมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงเร่งผลักดันและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ใช้ช่องทางออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซเป็นเครื่องมือในการขยายธุรกิจและขยายตลาด เนื่องจากช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางที่มีความทันสมัย กำลังอยู่ในกระแสความนิยมการค้าโลก สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ทุกที่ทุกเวลา มีต้นทุนในการบริหารจัดการไม่มาก สามารถใช้เป็นช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการได้เป็นอย่างดี รวมถึงแนวโน้มทางการค้าโลกในอนาคตที่จะพึ่งพิงช่องทางออนไลน์หรืออี-คอมเมิร์ซในการประกอบธุรกิจมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย และประชาชนทั่วไปเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจออนไลน์ กรมฯ จึงได้จัดงาน e-Commerce Day 2014 ขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2557 ณ กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ เพื่อแสดงศักยภาพและพลังของอี-คอมเมิร์ซไทย โดยคาดหวังว่าผู้ประกอบการ SMEs ไทย และผู้ประกอบการทั่วไป จะได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ช่องทางออนไลน์ในการขยายตลาดและเพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการ อันจะเป็นการสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจในระยะยาว และส่งผลต่อการพัฒนาธุรกิจไทยในภาพรวมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเทียบเคียงระดับสากล” ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ใช้อี-คอมเมิร์ซ เป็นช่องทางใหม่ในการขยายตลาดและขยายธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยการออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ DBD Registered เพื่อยืนยันความมีตัวตนของธุรกิจ และยกระดับเพิ่มความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นด้วยการออกเครื่องหมาย DBD Verified แก่เว็บไซต์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพตามที่กรมฯ กำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2557) กรมฯ ได้ออกเครื่องหมาย DBD Registered แล้วจำนวน 10,869 ราย 12,479 เว็บไซต์ และออกเครื่องหมาย DBD Verified แล้วจำนวน 120 ราย 135 เว็บไซต์ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ภาพรวมของธุรกิจออนไลน์ หรือ อี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย ในปี 2556 พบว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมีมูลค่ากว่า 744,419 ล้านบาท จำแนกตามประเภทธุรกิจ แบ่งเป็น B2B ร้อยละ 79.8 B2C ร้อยละ 19.3 และ B2G ร้อยละ 1 จำแนกตามขนาดธุรกิจ แบ่งเป็น ขนาดเล็ก (1-5 คน) ร้อยละ 66.8 ขนาดกลาง (6-50 คน) ร้อยละ 26.6 และขนาดใหญ่ (มากกว่า 50 คน) ร้อยละ 6.6 จำแนกตามประเภทกลุ่มสินค้าหรือบริการ แบ่งเป็น กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ร้อยละ 24 กลุ่มแฟชั่น เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ ร้อยละ 23 กลุ่มคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 19.2 กลุ่มธุรกิจบริการ ร้อยละ 7 และกลุ่มอื่นๆ ร้อยละ 26.8และจำแนกตามลักษณะการขายสินค้า แบ่งเป็น ขายผ่านอี-คอมเมิร์ซอย่างเดียว ร้อยละ 37.2 ขายผ่าน อี-คอมเมิร์ซและหน้าร้านกายภาพ ร้อยละ 61.9 และขายผ่านอี-คอมเมิร์ซและรูปแบบอื่นๆ ร้อยละ 0.9
แท็ก อาเซียน   SME  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ