“ออมให้พอ ที่เหลือใช้ให้เรียบ ! ” หลักบริหารเงินสไตล์ “อัจฉรา โยมสินธุ์” เตือนเยาวชนพอเพียงได้แม้อยู่เมือง

ข่าวทั่วไป Tuesday September 30, 2014 08:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงห้ามใช้สมาร์ทโฟน ถูกหรือผิด ? – ผิด ห้ามใช้สินค้าต่างประเทศ – ผิด ห้ามใช้กระเป๋าแบรนด์เนม ใส่นาฬิกาแพงๆ – ผิด ต้องปลูกผักสวนครัว กินข้าวกับน้ำพริกปลาทูและผักต้มเท่านั้น – ผิด ฯลฯ ข้างต้นเป็นตัวอย่างคำถาม “ล่อหลอก” ที่ชี้ให้เห็นว่ายังมีความเชื่อความเข้าใจผิดๆ อีกมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทย ยิ่งในเรื่องการจับจ่ายใช้สอย หรือเรื่อง “การบริหารจัดการการเงิน” ด้วยแล้ว ยิ่งต้องให้ความใส่ใจปลูกฝังความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลังหากจะทำความเข้าใจกันเสียใหม่ ผ่านคำอธิบายและตัวอย่างประกอบง่ายๆ ในการบรรยายเรื่อง “ความพอเพียงของเยาวชนวิถีเมือง” โดย ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ อาจารย์ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภายในค่ายเยาวชนกลุ่มปลาดาวประจำปี 2557 ในการสนับสนุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มูลนิธิเอสซีจี และมูลนิธิสยามกัมมาจล ดร.อัจฉรา เกริ่นนำว่า ความพอเพียงของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่มีถูกหรือผิด และไม่สามารถฟันธงได้เลยว่าความพอเพียงของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของคนๆ นั้น และเนื่องจาก เศรษฐกิจพอเพียงเป็น “หลักคิด” สิ่งที่จะได้จากเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นหลักการและแนวคิดที่แต่ละคนจะนำไปประยุกต์ใช้เป็นวิถี “เราถูกหล่อหลอมมาไม่เหมือนกัน การประยุกต์ใช้ของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน” แต่ทั้งหมดนี้เพื่อตอบโจทย์ๆ เดียวคือ “ความยั่งยืน” โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัวเราทุกคนอย่างเรื่อง “เงิน” ถ้าเราไม่นำหลักความพอเพียงมาบริหารจัดการให้สมดุล อนาคตทางการเงินของเราก็จะไม่ยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากจุดง่ายๆ เมื่อไรที่เราบริหารจัดการตัวเองได้ เราก็จะบริหารจัดการเงินได้ อาจารย์ภาควิชาการเงิน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แนะนำทางลัดของการบริหารจัดการตัวเองว่า คือ การจดบันทึกรายรับ – รายจ่ายอย่างง่ายๆ ที่เราคุ้นเคยกัน จากนั้นจึงนำรายรับ – รายจ่ายที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์เพื่อรู้จักพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเอง เมื่อรู้จักตัวเองดีพอแล้ว ความพอประมาณก็จะเกิดขึ้น ยิ่งเรามีเป้าหมายทางการเงินชัดเจนก็จะทำให้มีกำลังใจ มีวินัย และใช้เหตุผลในการจับจ่ายโดยที่เราไม่จำเป็นต้องหยุดใช้เงิน แต่รู้จักใช้ให้พอดี “การหาเงินให้พอใช้นั้นยากมาก เพราะไม่มีอะไรจะหยุดความต้องการไว้ได้ เราหยุดมันไม่ได้ เราจึงต้องเริ่มด้วยการลด แต่ดีที่สุดให้ถามตัวเองบ่อยๆ ว่า หนึ่ง.ที่เราทำอยู่เบียดเบียนตัวเองหรือเปล่า และ สอง.สิ่งที่ทำอยู่เบียดเบียนคนอื่นหรือไม่” ที่เหลือจึงเป็นการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ป้องกันความเสี่ยงให้แก่ตนเอง ดร.อัจฉราแนะนำเยาวชนในเรื่องของการออมเพื่ออนาคตโดยมีเทคนิคส่วนตัวสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “ออมให้พอ ที่เหลือใช้ให้เรียบ ! ” ได้เงินมาปุ๊บต้องชิงแบ่งบางส่วนเก็บออมไว้ก่อน วิธีนี้จะช่วยให้น้องๆ วัยเรียนจนถึงวัยทำงานมีเงินเก็บแน่นอน และไม่รู้สึกเครียดเวลาต้องใช้จ่าย ต่างจากวิธีที่หลายคนทำอยู่คือใช้จ่ายอย่างประหยัดแล้วค่อยเหลือเก็บ สุดท้ายก็เก็บไม่ได้ แถมยังรู้สึกเครียดทุกครั้งเมื่อต้องควักกระเป๋าใช้จ่าย ทั้งนี้เงินออมที่ได้ยังสามารถนำไปสร้างดอกผลกำไรได้อย่างเหลือเชื่อ “ไอน์สไตน์บอกว่าสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลกคือดอกเบี้ยทบต้น” เงินเก็บเล็กๆ น้อยๆ ในวันนี้จะเป็นทุนก้อนใหญ่ให้กับเราในอนาคต ยกตัวอย่าง นาย ก กับ นาย ข อายุ 18 ปีเท่ากัน มีเงินเก็บคนละ 3 หมื่นบาท ต้องการซื้อรถมอเตอร์ไซต์ไว้ใช้งาน นาย ก ไปซื้อมอเตอร์ไซต์มือสองด้วยเงินสดราคา 3 หมื่นบาท ส่วนนาย ข บอกว่าอยากได้มอเตอร์ไซต์มือหนึ่งเท่ห์ๆ ราคา 2.5 แสนบาท วางเงินดาวน์ 3 หมื่นบาท ต้องกู้เงินมาเพิ่ม 2.2 แสนบาท เงื่อนไขผ่อนคืน 4,675 บาทต่อเดือน ภายใต้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี นาย ข จะผ่อนรถได้หมดตอนอายุ 23 ปี คิดเป็นมูลค่าของมอเตอร์ไซต์ที่จ่ายไปจริงๆ 280,500 บาท ส่วนนาย ก ไม่ต้องผ่อนรถ จึงมีเงินออม 4,675 บาทต่อเดือนฝากเข้าธนาคารในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ตอนที่อายุ 23 ปีเท่ากัน นาย ก จะมีเงินออม 365,024 บาท หลังจากนั้นโดยไม่มีการออมเพิ่มและไม่มีการเบิกออกมาใช้ ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 10 เมื่อนาย ก เกษียณตอนอายุ 58 ปี เขาจะมีเงินเก็บ 11.68 ล้านบาท ขณะที่รถมอเตอร์ไซต์ของนาย ข แทบไม่มีมูลค่าใดๆ หลงเหลืออยู่แล้ว สุดท้าย เมื่อรู้แล้วว่าจะบริหารจัดการเงินอย่างไรให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีภูมิคุ้มกัน ดร.อัจฉรา ฝากไว้ว่าวินัยถือเป็นคุณธรรมข้อสำคัญที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการการเงิน “จริงๆ แล้วการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องยาก ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ความมั่งมีไม่ใช่เพราะมีมากมาย แต่เพราะมีมากพอ” ดร.อัจฉรา ฝากข้อคิดปิดท้าย #

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ