อัพเดทสถานการณ์ล่าสุด พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ภาคประชาชน+20 ข้อ

ข่าวทั่วไป Thursday November 13, 2014 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--change.org หลังจากที่ A CALL และองค์กรอนุรักษ์สัตว์อีกหลายแห่งได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจกันสุดๆ พรุ่งนี้ วันพุธที่ 12 พ.ย. นี้ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์จะเข้าสู่สภานิติบัญญัติอีกครั้ง โดยจุดยืนของพวกเรายังเหมือนเดิม คือผลักดันให้ 20 ข้อห้ามการทารุณกรรมสัตว์เข้าไปอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ ก่อนหน้านี้ในชั้นกรรมาธิการได้รวมเข้าไปแล้ว 6 ข้อ จาก 20 ข้อที่เราเสนอไป แต่การประชุมในวันพุธที่จะถึงนี้ เรายังมีโอกาสผลักดันข้อต่างๆ ที่เหลืออีกครั้ง ด้วยการทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ได้ทราบถึงความต้องการของประชาชน ว่าหากมี 20 ข้อที่เราเสนอไป จะทำให้กฎหมายที่สนช.พิจารณา เป็นกฎหมายคุ้มครองสัตว์ที่มีความสมบูรณ์และชัดเจนสำหรับประชาชนมากขึ้น ซึ่งผลประโยชน์จะเป็นของสัตว์โดยตรง คือ ได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริง 20 ข้อนี้ ตั้งแต่แรกเริ่มเป็นการนำเสนอจากหลายองค์กรที่มีประสบการณ์ทำงานเรื่องสัตว์มายาวนาน โดยนำกฏหมายต่างประเทศเข้าประยุกต์ใช้ ได้ข้อสรุปออกมาเป็น ข้อห้ามการทารุณกรรมสัตว์ 20 ข้อ อันครอบคลุมการทารุณสัตว์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และเกิดขึ้นจริง ในสังคมไทย คุณ John Dalley ประธานมูลนิธิ Soi Dog ได้กล่าวในห้องคณะกรรมาธิการว่า "ผมอ่านกม.คุ้มครองสัตว์มาหลายประเทศ "ไม่มี"ประเทศไหน ที่เอาการทารุณกรรมสัตว์มาเป็นเพียงแค่นิยามอย่างเดียว มันต้องมีทั้งนิยาม และแบ่งแยกย่อยเป็นข้อๆชี้ระบุออกมา เพราะดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ละคนมันต่างกัน ไม่สามารถถือเป็นบรรทัดฐานได้" ที่ผ่านมา พวกเราได้พยายามหลายๆ ทางเพื่อสื่อสารกับ สนช. เช่น เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พ.ย. ตัวแทนการรณรงค์ของพวกเรา ได้เข้าพบคุณพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภาสนช.เพื่อชี้แจงให้ท่านได้ทราบว่าประชาชนจำนวนมากห่วงใยกฎหมายฉบับนี้ และต้องการให้ สนช.พิจารณากฎหมายนี้อย่างรอบด้าน เพื่อประโยชน์สาธารณะ พรุ่งนี้ พวกเราต้องแสดงพลังประชาชนอีกครั้ง.... โดยในเวลา 7.30 น. กลุ่มคนรักสัตว์ นำโดย เก๋ ชลลดา เมฆราตรี ประธานมูลนิธิเดอะวอยช์ เสียงจากเรา พร้อมเพื่อนดาราที่มีชื่อเสียงจะทำกิจกรรมที่หน้ารัฐสภา เพื่อขอร้องสนช.พิจารณากฎหมายร่างพรบ.คุ้มครองสัตว์+ 20 ข้อห้ามทารุณกรรมสัตว์ จากภาคประชาชน เพื่อทำให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ และชัดเจนสำหรับประชาชนมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ