เตือนเกษตรระวังหอมเลื้อยระบาด สศข.11 เผย ยโสธรประกาศ 991 ไร่ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว

ข่าวทั่วไป Monday February 2, 2015 12:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 11 เผย พบการระบาดหอมเลื้อยในหอมแดงพื้นที่จังหวัดยโสธร โดยประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน 991 ไร่แล้ว แนะเกษตรหมั่นสังเกต และดูแลแปลงกล้าและแปลงปลูกอย่างถูกต้องจะเป็นแนวทางหลีกเลี่ยงและลดความเสียหายจากโรคได้ นายไพทูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการงานสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 11 อุบลราชธานี (สศข.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคหอมเลื้อย หรือ แอนแทรกโนส ในหอมแดง ที่กำลังขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นในเขต อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร โดยทางจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน 991 ไร่แล้ว โดยทางสำนักงานเกษตรอำเภอค้อวัง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้แนะนำ สารเคมีในการป้องกันโรคและเพื่อควบคุม การระบาดไม่ให้ขยายวงกว้าง และให้เกษตรกรเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โรคหอมเลื้อย เป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่งระบาดทำความเสียหาย เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides โดยเชื้อราชนิดนี้ทำให้เกิดอาการใบเน่า และอาการเลื้อยไม่ลงหัว หัวลีบ ยาวบิดโค้งงอ ใบบิดเป็นเกลียว ส่วนคอมักยืดยาว มีระบบรากสั้นกว่าปกติทำให้รากหลุดจากดินได้ง่าย จึงเกิดการเน่าก่อนถึงเวลาเก็บเกี่ยวหรือหลังเก็บเกี่ยวอย่างรวดเร็ว ต้นที่เป็นโรค มักพบแผลเป็นรูปรี เนื้อเยื่อของแผลยุบตัวต่ำกว่าระดับเดิมเล็กน้อย บนแผลจะพบหลุม สปอร์ของเซื้อราเป็นของเหลวข้นสีส้มอมชมพู ซึ่งเมื่อแห้งแล้วจะกลายเป็นตุ่มสีดำเล็กๆ เรียงซ้อนเป็นวงหลายซั้นที่บริเวนใบ โคน กาบใบ คอ หรือส่วนหัวเกิดร่วมกับอาการแคระแกร็น เลื้อยไม่ลงหัว ทั้งนี้ การป้องกันและกำจัด เน้นเรื่องการดูแลรักษา ทำความสะอาดแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเก็บต้นเป็นโรคหอมเลื้อยไปเผาทำลาย ไม่สามารถใช้สารเคมีชนิดใดเพื่อรักษาโรค แต่สามารถป้องกันโรคระบาดลุกลามไปยังต้นอื่นโดยพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น อะซ๊อกซีสโตรนิน (อมิสตา 25% Sc) โปรคลอราช(อ๊อคเทฟ 50%wp) ไดฟิโนโซนิโดน(ชูมิเล็กซ์ 50% wp)เป็นต้น โดยเกษตรกรหมั่นสังเกต และดูแลแปลงกล้าและแปลงปลูกอย่างถูกต้องจะเป็นแนวทางหลีกเลี่ยงและลดความเสียหายจากโรคได้ และการพ่นควรพ่นเมื่อพบโรคโดยทุกครั้งเก็บต้นที่เป็นโรคใบเผาทำลาย โดยสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรเขต 11 โทรศัพท์ 045 344653-4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ