กทค. ถอนวาระร้อน เลี่ยงคุยคำขอ TOT บริการคลื่น 900 และหลักเกณฑ์อนุญาตดาวเทียมสื่อสาร

ข่าวเทคโนโลยี Monday February 9, 2015 15:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--กสทช. แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. แจ้งว่า หลังจากที่มีการยกเลิกการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 3 ของปีนี้ไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ในการประชุมประจำสัปดาห์ที่กำลังมาถึงนี้ นอกจากมีการบรรจุวาระการประชุมใหม่เพิ่มจากที่ค้างมาอีกหลายเรื่อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่พร้อมกันนั้นก็มีการถอนวาระสำคัญอย่างเรื่องคำขอแก้เงื่อนไขการอนุญาตและเสนอแผนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 MHz ของ บมจ. ทีโอที หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และเรื่องการพิจารณา (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต และเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร พ.ศ. ... ออกไปด้วย โดยกรณีการถอนวาระเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมนั้น ทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นเรื่องค้างเติ่งข้ามหลายปี ส่วนการถอนเรื่องคำขอของทีโอทีทำให้เป็นที่สงสัยว่า อาจถือเป็นการส่งสัญญาณหรือไม่ว่า กทค. ยังไม่อยากขยับเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ทั้งนี้ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่ประธาน กทค. จะแจ้งยกเลิกการประชุมครั้งที่ 3/2558 เว็บไซต์NBTCRights ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องคำขอของ บมจ. ทีโอที ที่สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอให้ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 3/2558 พิจารณา โดยระบุว่า บมจ. ทีโอที ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อขอแก้เงื่อนไขในการอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 และเสนอแผนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 MHz หลังสิ้นสุดสัมปทาน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นฝ่ายนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้บริการต่อไปด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์NBTCRights ระบุว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อสัมปทานในการให้เอกชนเป็นผู้ประกอบการสิ้นสุดลง สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ก็สิ้นสุดลงด้วย ประกอบกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 บัญญัติให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ ดังนั้น บมจ. ทีโอทีจึงไม่มีสิทธิใช้คลื่นความถี่ต่อไปได้ แต่ต้องคืนคลื่นความถี่กลับมาที่ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ด้วยวิธีการประมูล โดยเรื่องทำนองเดียวกันนี้เคยมีการนำเข้าที่ประชุม กทค. มาแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นเป็นกรณีที่สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz สิ้นสุด แล้ว บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ทำแผนขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ถึงสำนักงาน กสทช. แต่ที่ประชุม กทค. มีมติไม่อนุญาตตามขอ เนื่องจากเหตุผลว่า สิทธิในการใช้คลื่นของ บมจ. กสท โทรคมนาคม สิ้นสุดลงแล้วตามเหตุผลดังกล่าว แหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างมากที่มีการถอนวาระนี้ออกจากการประชุม เพราะไม่เพียงแต่ กสทช. ต้องมีคำตอบอย่างเป็นทางการที่ชัดเจนในเรื่องนี้ให้กับ บมจ. ทีโอที แต่ยังเกี่ยวพันกับแผนงานของสำนักงาน กสทช. ที่ได้เคยแถลงข่าวไว้เมื่อต้นปีว่าจะมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHzเพื่อให้บริการ 4G ก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด แหล่งข่าวระบุต่อด้วยว่า สถานการณ์ในเรื่องนี้มีทิศทางที่น่าเป็นห่วง เพราะหลังจากที่เลขาธิการ กสทช. แถลงข่าวว่าจะมีการเตรียมการเพื่อจัดประมูลให้ทันก่อนสัญญาสัมปทานคลื่นย่าน 900 MHz สิ้นสุด แต่จนบัดนี้ยังไม่เคยมีการนำวาระที่เกี่ยวข้องกับการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz รวมทั้ง 1800 MHz เข้าสู่ที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาเลย ขณะที่วาระข้อเสนอของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด ที่เคยทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อขอให้มีการประมูลคลื่นย่าน 900 MHz ก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ก็เคยถูกบรรจุเป็นวาระและถูกถอนออกไปจากประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 โดยยังไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้กลับเข้ามาพิจารณาในที่ประชุมอีก สถานการณ์ในการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมจึงมีทิศทางที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากกระแสการแก้ไข พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในขณะนี้ก็มีแนวทางที่จะกำหนดว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการประมูล ส่วนวาระเรื่องการพิจารณาเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต และเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร พ.ศ. ... มีข้อน่าสังเกตว่าเป็นเรื่องที่คาราคาซังมานาน เพราะร่างประกาศดังกล่าว จัดทำแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2556 และมีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง (Focus Group) ไปแล้วตั้งแต่ 31 มกราคม 2557 จากนั้นก็จดๆ จ้องๆ ไม่มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กทค. เสียที แต่ในระหว่างนั้น ที่ประชุม กทค. ก็ได้มีมติอนุญาตดาวเทียมไทยคม 8 ทั้งที่ยังไม่มีประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียม ซึ่งเรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความถูกต้องเหมาะสม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ