เอแบคโพลล์ เสนอผลสำรวจเรื่อง "เด็กวัยรุ่นคิดอย่างไร เมื่อดารามั่วยาเสพติด"

ข่าวทั่วไป Tuesday November 25, 1997 15:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--25 พ.ย.--เอแบคโพลล์
โครงการสำรวจภาคสนามเรื่อง "เด็กวัยรุ่นคิดอย่างไรเมื่อดารามั่วยาเสพติด : ศึกษาเฉพาะกรณีเด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง 12-22 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร" ของสำนักวิจัยเอแบค - เคเอสซีอินเตอร์เนตโพลล์ หรือ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ครั้งนี้ ได้ดำเนินโครงการวิจัยในช่วงระหว่าง วันที่ 24 ถึง 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 โดยใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบสะดวกกระจายทั่วกรุงเทพฯ ในการเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างหลังจากนั้นนำแบบสอบถามที่ได้รับ มาพิจารณาความสมบูรณ์และถูกต้อง ซึ่งมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 1,143 ตัวอย่าง
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ พบว่าส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 62.6 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเป็นหญิง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82.3 ระบุนิยมดูภาพยนต์ รองลงมาร้อยละ 74.0 นิยมดูละครโทรทัศน์ ร้อยละ 31.2 นิยมดูคอนเสิร์ต และร้อยละ 10.7 นิยมดูละครเวที ตามลำดับ
ประเด็นสำคัญที่ค้นพบคือ กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 98.5 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดยืนยันว่า ทราบข่าวเกี่ยวกับดาราที่มั่วยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.6 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดระบุว่าเห็นด้วยกับสื่อมวลชนที่เสนอข่าวเกี่ยวกับดาราที่มั่วยาเสพติด ในขณะที่ร้อยละ 14.4 ระบุว่าไม่มีความเห็น และเพียงร้อยละ 9.0 ระบุว่าไม่เห็นด้วย
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.0 ยืนยันว่า ดาราที่มั่วยาเสพติดนั้นทำตัวไม่เหมาะสม ในขณะที่ร้อยละ 10.0 ระบุว่าไม่มีความเห็น และเพียงร้อยละ 1.1 ระบุว่าไม่เห็นเป็นไร
เมื่อสอบถามความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่างต่อการที่ดาราหรือนักแสดงมั่วยาเสพติดนั้น พบว่าร้อยละ 58.5 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดระบุว่า เสียใจที่เห็นดารามั่วยาเสพติด รองลงมาคือร้อยละ 37.7 ระบุว่าไม่ได้เสียใจอะไร ในขณะที่ร้อยละ 3.8 ระบุว่าไม่มีความเห็น
ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ เมื่อคณะผู้วิจัยสอบถามระดับความนิยมของกลุ่มตัวอย่างต่อดาราที่มั่วยาเสพติด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.7 ระบุว่าลดความนิยมลงไป ในขณะที่ร้อยละ 19.6 ระบุว่าจะยังคงนิยมต่อไป และร้อยละ 17.7 ระบุว่าจะไม่ติดตามชมการแสดงของดาราหรือนักแสดงที่มั่วยาเสพติดอีกต่อไป
หากต้องการทราบรายละเอียด กรุณาติดต่อ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ โทร.สายตรง 719-1550 หรือ 719-1577 หรือ 300-4543 ถึง 62 ต่อ 1333 หรือ 1336--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ