ผลสำรวจแกรนท์ ธอนตันพบผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงลดลงในภูมิภาคเอเชียและในไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday March 10, 2015 16:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--แกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย แกรนท์ ธอนตัน เผยผลการสำรวจประจำปีเกี่ยวกับผู้หญิงในฐานะผู้บริหารทั่วโลก เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล (International Women’s Day) ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคมนี้ พบว่าสัดส่วนของผู้บริหารธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ในขณะที่ในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว สัดส่วนของผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงยังไม่มีความคืบหน้าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนตลาดเกิดใหม่มีสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงลดลงอย่างมาก โดยอาจได้รับผลจากการผลักดันการพัฒนาเข้าสู่สังคมเมืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งอ้างอิงจากรายงาน Women in business: the path to leadership ทั้งนี้ สัดส่วนของตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 20 ซึ่งต่ำกว่าทั้งค่าเฉลี่ยทั่วโลก (ร้อยละ 22) และค่าเฉลี่ยระยะยาวของภูมิภาค (ร้อยละ 24) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วในภูมิภาคเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่น (ร้อยละ 8) ซึ่งยังคงรั้งอันดับสุดท้ายในผลการสำรวจทั่วโลก สิงคโปร์ (ร้อยละ 23) และออสเตรเลีย (ร้อยละ 22) ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่นิวซีแลนด์มีผลการสำรวจลดลงอยู่ที่ร้อยละ 19 ในปีนี้ จากค่าเฉลี่ยในระยะยาวซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 28 อย่างไรก็ตาม ความผันผวนนั้นเห็นได้อย่างชัดเจนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยตัวเลขในประเทศจีนลดลงอยู่ที่ร้อยละ 25 จากค่าเฉลี่ยของทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 32 ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 27 (จากเดิมร้อยละ 37) มาเลเซียอยู่ที่ร้อยละ 22 (จากเดิมร้อยละ 27) และอินโดนีเซียอยู่ที่ร้อยละ 20 (จากเดิมร้อยละ 31) ส่วนอินเดียอยู่ในอันดับที่ 3 จากท้ายสุดในการจัดอันดับในทั่วโลก (ร้อยละ 15) จุฬาภรณ์ นำชัยศิริ กรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจการเงินของแกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า “กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเคยได้รับประโยชน์จากการฝากฝังบุตรหลาน หรือให้เครือญาติที่อาศัยอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงช่วยดูแล ถือเป็นสาธารณูปโภคทางด้านการดูแลบุตรหลานที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ และช่วยส่งเสริมให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเข้าสู่สังคมเมืองที่กระจายตัวในวงกว้างเริ่มได้เริ่มที่จะกัดกร่อนระบบดังกล่าว ทั้งยังเสริมสร้างความทะเยอทะยานและเพิ่มโอกาสทางหน้าที่การงานให้กับผู้หญิง ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงจำนวนมากเลือกที่จะมีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น หรือไม่ก็เลือกที่จะไม่มีบุตรเลย” “นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นและอินเดียอาจมีระดับของการพัฒนาที่แตกต่างกันมาก แต่สองประเทศนี้มีลักษณะทางวัฒนธรรมบางอย่างที่เหมือนกัน อาทิ มีระบบการปกครองโดยลำดับขั้นอย่างเข้มงวด และเป็นสังคมที่มีผู้ชายเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นอุปสรรคขวางกั้นผู้หญิงจากการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในโลกธุรกิจ” จุฬาภรณ์กล่าวต่อว่า “สำหรับประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่รายงานซึ่งระบุว่าในปี 2583 หรือในอีก 25 ปีข้างหน้า กำลังแรงงานทั้งหมดของประเทศไทยจะลดลงอยู่ที่ 35.2 ล้านคน จากจำนวน 39 - 40 ล้านคนในปัจจุบัน และเนื่องจากกำลังแรงงานทั้งหมดที่เริ่มลดลง ทำให้สมาชิกครอบครัวที่อ่อนวัยกว่าจากครอบครัวขยายจำเป็นต้องเข้าสู่การทำงาน ในขณะที่ประชากรไทยกำลังมีอายุสูงมากขึ้น ซึ่งรายงานดังกล่าวรายงานว่าจำนวนประชากรไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจาก 6.4 ล้านคนในปัจจุบัน (ร้อยละ 9 ของจำนวนประชากร) เป็น 20.5 ล้านคนในปี 2583 (ร้อยละ 32 ของจำนวนประชากร) ซึ่งการที่มีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีเพิ่มขึ้นถึงปีละ 564,000 คน หรือวันละ 1,545 คนนับเป็นเรื่องที่น่าตกใจ” “ผลลัพธ์ที่เกิดจากปัจจัยเหล่านี้คือการที่ผู้บริหารหญิงระดับอาวุโสในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะเกษียณก่อนวัยสูงยิ่งขึ้น เนื่องจากมีฐานะการเงินเพียงพอที่จะดูแลสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิดามารดาที่เข้าสู่วัยชรา อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่แท้จริง ก็คือการที่มีผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงลดลง ซึ่งทำให้เกิดภาวะ “สมองไหล” ของผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารสูง โดยแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปในประเทศไทย” สำหรับทั่วโลก ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่มีผู้หญิงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ที่ร้อยละ 22 ซึ่งมีจำนวนสูงขึ้นเล็กน้อยจากเมื่อปี 2547 (ร้อยละ 19) ทว่าลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 24 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีพัฒนาการในเรื่องนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศเยอรมนี (ร้อยละ 14) ยังได้รับการจัดอันดับอยู่ในตำแหน่งท้ายๆ ร่วมญี่ปุ่นและอินเดีย อย่างไรก็ตาม ยังมีพัฒนาการเล็กน้อยซึ่งก็คือร้อยละ 26 ของตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในสหภาพยุโรปปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งโดยผู้หญิง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยตัวเลขดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยประเทศฝรั่งเศส (ร้อยละ 33) สวีเดน (ร้อยละ 28) และกรีซ (ร้อยละ 27) ในขณะเดียวกัน ตัวเลขในประเทศแถบละตินอเมริกาลดลงอยู่ที่ร้อยละ 18 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ จุฬาภรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราเคยได้ยินภาคธุรกิจกล่าวถึงความเสมอภาคทางเพศเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษแล้ว แต่มีผู้คนเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ทำเช่นนั้นได้จริง ดังนั้น นอกเหนือจากการให้กำลังใจเรื่องโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคนแล้ว การที่กลุ่มผู้บริหารระดับสูงมีการผสมผสานทั้งผู้หญิงและผู้ชายจึงเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจ เพราะหากว่ากลุ่มเศรษฐกิจจะใช้ประโยชน์จากเพียงครึ่งหนึ่งของบุคลากรที่มีประสิทธิภาพที่สุด โอกาสในการเติบโตย่อมถูกลดทอนลงในทันที” “สิ่งนี้เป็นอุปสรรคที่แท้จริงไม่เพียงสำหรับภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐบาล สังคม และผู้หญิงเองอีกด้วย สังคมจึงควรปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตามวิถีที่เราใช้ชีวิตและทำงาน ยกตัวอย่างความคิดที่ว่า การมองผู้ชายที่เลือกไม่ทำงานและอยู่บ้านเพื่อดูแลครอบครัวนั้นเป็นเรื่องไม่ดีจำต้องสิ้นสุดลง นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถให้การสนับสนุนด้วยการอนุมัติให้ผู้ปกครองลาหยุดร่วมกันได้ รวมถึงสร้างสาธารณูปโภคที่ช่วยให้ผู้หญิงมีความก้าวหน้าในการทำงาน ซึ่งยกตัวอย่างเช่น การกำหนดโควต้าเพื่อสำรองที่นั่งในตำแหน่งบอร์ดผู้บริหารให้แก่ผู้หญิง เป็นต้น” จุฬาภรณ์กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ