ระวัง! ลมแดดและโรคผิวหนังที่มาในช่วงหน้าร้อน

ข่าวทั่วไป Thursday May 7, 2015 16:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--คอร์แอนด์พีค ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนัง แห่งประเทศไทย แม้จะเลยล่วงผ่านเดือนเมษายนมาแล้ว อากาศที่บ้านเราก็ยังคงร้อนระอุอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้คาดว่าฤดูร้อนจะยาวนานกว่าปรกติ กว่าจะเข้าช่วงหน้าฝนก็คงกลาง ๆ เดือนมิถุนายนเข้าไปแล้ว หลาย ๆ คน คงจะหงุดหงิดหัวใจว่า เข้าสู่เดือนพฤษภาคมมาแล้ว ทำไมยังคงร้อนมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ บางคนทำงานในที่แจ้งเกิดอาการเพลียแดดกับสภาพอากาศที่ร้อนแล้ว เป็นลมแดด ผิวสวย ๆ ที่คุณเฝ้าดูแลทะนุถนอมอาจกลายเป็นผิวเสีย ๆ เพราะโรคผิวหนังสารพัดมารุกราน ฤดูร้อนปีนี้ร้อน…ร้อนมาเร็ว สุด ๆ ยิ่งกว่าปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา นอกจากจะต้องรับมือกับปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่เครียดกับงานแล้ว ยังต้องมาเครียดกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงปรี๊ด ทั้งลมแดด ไมเกรน ขาดน้ำ และอื่นๆ แล้ว ยังต้องระวังโรคผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นด้วย ส่วนจะมีโรคอะไรบ้างและควรดูแลป้องกันตัวเองอย่างไร ลองมาดูกันดีกว่า 1.โรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) เกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไปทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคฮีทสโตรก คือไม่มีเหงื่อออก แม้จะอากาศร้อน หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก มึนงง สับสน รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัว ลดน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่ว ๆ ไปที่จะมีเหงื่อออกด้วย สำหรับผู้ที่มี ความเสี่ยงในการเกิด โรคฮีทสโตรก คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด วิธีป้องกัน : สำหรับการปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคฮีทสโตรก ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน ในวันที่มีอากาศร้อนจัด ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายอุณหภูมิความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้ และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำ ให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้จะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรืออยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษโดยให้อยู่ในห้องที่มีอากาศระบายได้ดี และไม่ให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพังในกรณีที่จะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด ควรเป็นบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงโดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายเคยชินกับสภาพอากาศร้อนจัด 2.ผดร้อน เมื่ออุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต่อมเหงื่อทำงานหนัก เพื่อปรับสมดุลความร้อนในร่างกาย หากเกิดการอุดตัน ขับเหงื่อออกมาไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดผดลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสๆ เล็กๆ เรียงกันไป มักจะขึ้นตามซอกข้อพับ หน้าอก หน้าผาก ส่วนมากจะพบในเด็ก เพราะต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่เต็มที่ การถ่ายเทอากาศยังไม่ดีพอ แต่ก็พบในผู้ใหญ่ได้เหมือนกัน เมื่อผดพวกนี้เกิดการอักเสบก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดง และหากมีแบคทีเรียเข้าไปก็จะกลายเป็นตุ่มหนอง วิธีป้องกัน : ใส่เสื้อผ้าโปร่งที่ระบายอากาศได้ดี หลังเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่เหงื่อออกเยอะก็ไม่ควรทิ้งให้เหงื่อหมักหมมอยู่นาน อาบน้ำล้างตัวให้สะอาด วันหนึ่งอาบมากกว่าสองครั้งก็ได้ และอย่าลืมดูแลที่นอน ปลอกหมอนให้สะอาด 3. กลาก-เกลื้อน เมื่อมีเหงื่อออกมาก ในบริเวณที่อับชื้นก็จะติดเชื้อเกิดเป็นกลากเกลื้อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะคนที่ชอบใส่เสื้อผ้าอับๆ รัดๆ เล่นกีฬาหรือทำงานกลางแจ้ง และเมื่อเป็นแล้วครั้งหนึ่งก็อาจเป็นซ้ำได้อีก เพราะหมายความว่าลักษณะผิวหนังเหมาะที่จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ง่ายนั่นเอง โดยลักษณะของกลากจะเป็นวงแดงๆ คันๆ เกิดจากเชื้อรา มักพบตามขาหนีบ ก้น รักแร้ ง่ามเท้า ซอกนิ้วมือ มีชื่อเรียกต่างกันไปตามบริเวณที่ขึ้น เช่น ถ้าขึ้นที่ขาหนีบจะเรียกว่า สังคัง กลากบนหนังศีรษะเรียกว่า ชันนะตุ และถ้าเป็นทั้งตัวก็จะเรียกว่า ขี้กลากหนุมาน ส่วน เกลื้อน จะเกิดจากเชื้อยีสต์ซึ่งอยู่ที่ผิวหนังเราอยู่แล้ว มองเห็นเป็นจุดขาวๆ คันๆ มักพบในบริเวณที่เหงื่อออกเยอะ เช่น แผ่นหลัง วิธีป้องกัน : ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในอากาศที่ร้อนอบอ้าว ไม่สวมเสื้อผ้าที่หนาและคับ หลังการทำงานหรือเล่นกีฬาที่ทำให้มีเหงื่อออกมาก ควรรีบอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาดแล้วเช็ดตัวให้แห้ง ใส่เสื้อผ้าซักสะอาด ตากให้แห้ง และเปลี่ยนเสื้อใหม่ทุกวัน 4. กลิ่นตัว กลิ่นตัวเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของคนเรายามเหงื่อออกและทำให้คนรอบข้างรังเกียจ กลิ่นตัวเกิดจากต่อม Apocrineบริเวณรักแร้หลั่งสารชนิดหนึ่งออกมาเวลาร้อนๆ เมื่อสารนี้ทำปฏิกิริยากับเหงื่อและแบคทีเรียก็จะเกิดเป็นกลิ่นตัวขึ้น ยิ่งเหงื่อออกมาก กลิ่นตัวก็ยิ่งแรง และแต่ละคนก็จะมีกลิ่นแตกต่างกันไป บางคนอาจกลิ่นแรงชนิดที่คนใกล้ๆ ได้กลิ่นก็แทบสลบเลยทีเดียว วิธีป้องกัน : รักษาความสะอาดโดยเฉพาะบริเวณรักแร้ แล้วใช้พวกสารระงับกลิ่นกายหรือสารส้มก็ได้ พอช่วงกลางวันหากกลิ่นตัวแรงขึ้น ลองใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำสะอาดหยดโคโลญเล็กน้อยเช็ดใต้วงแขน จะรู้สึกสบายตัวเหมือนอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ 5. สิว จริงๆ แล้วต่อมเหงื่อกับต่อมไขมันเป็นคนละต่อมกัน แต่เมื่อเหงื่อออกเยอะๆ ความมัน ก็เลยกระจายไปทั่วใบหน้า เกิดความรู้สึกว่าหน้ามันไหลเยิ้ม บางคนก็ชอบเอามือไปจับ เกิดความสกปรกก็เลยทำให้เกิดการอักเสบเป็นสิวขึ้นได้ วิธีป้องกัน : ไม่ควรใช้มือที่ไม่สะอาดสัมผัสใบหน้า เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็น non-comedogenic คือ รับรองว่าไม่ทำให้เกิดสิว และ oil-free อย่าลืมล้างเครื่องสำอางให้สะอาดก่อนเข้านอน 6. ภูมิแพ้ ในช่วงหน้าร้อน สาวๆ ที่ชอบสวมเครื่องประดับประเภทโลหะ ไม่ว่าจะเป็นต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ เมื่อเหงื่อออกมากๆ ก็อาจจะทำให้นิกเกิ้ลละลายออกมาทำปฏิกิริยากับผิวหนังจนเกิดผื่นผิวหนังอักเสบในบริเวณที่สัมผัสกับโลหะได้ รวมถึงกลุ่มที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (อโทปิก Atopic) ความชื้นจากเหงื่อก็จะไปกระตุ้นให้คันมากขึ้นได้ บางคนคิดว่าแพ้เหงื่อแต่จริงๆเกิดจากเป็นอโทปิกทำให้คันง่าย บางคนโดนแดดแล้วมีผื่นลมพิษขึ้น คันทั่วตัว วิธีป้องกัน : หากคุณแพ้โลหะก็ควรงดเครื่องประดับที่มีส่วนผสมของนิกเกิล เลือกใช้พวกที่เป็นเงินแท้หรือทองคำแท้แทน สำหรับผิวหนังอักเสบอโทปิก ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออก อาบน้ำด้วยสบู่อ่อน ใส่เสื้อผ้าที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดด...ตัวร้ายทำลายผิว 7. รังสีอัลตร้าไวโอเลตในแสงแดด ถือเป็นศัตรูตัวร้ายของผิวสวยๆ เลยก็ว่าได้ รังสี UVA ในแสงแดดจะเป็นตัวการทำร้ายผิวให้ผิวเสื่อมก่อนวัย เกิดริ้วรอย เกิดความเหี่ยวย่น และทำให้ดำในทันทีที่โดนแดด ส่วนรังสี UVB จะทำให้ผิวคุณไหม้ มีอาการแสบร้อน ผิวแดงจัด อาจมีอาการพอง หลังจากนั้นก็ลอกและเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ (Delayed Tanning) และนานวันเข้าก็อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง ได้ วิธีป้องกัน : งดใส่เสื้อแขนกุด ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมหมวกปีกกว้าง ใช้ร่ม และทายากันแดดทุกครั้งที่ออกจากบ้าน โดยเลือกแบบที่ป้องกันได้ครบทั้งรังสี UVA (มีสัญลักษณ์ PA+++ หรือ UVA-Block) และ UVB (SPF 30 ขึ้นไป) นอกจากนี้ควรทาซ้ำก่อนออกแดดทุกครั้ง และหากทำกิจกรรมกลางแจ้งก็ควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง เพราะสารกันแดดในยากันแดดจะเสื่อมประสิทธิภาพลงเมื่อโดนแสงแดด เลือกทำกิจกรรมช่วงเช้าหรือเย็น ที่แดดไม่แรงมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ