สจล. โชว์ 4 นวัตกรรมอาหารเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติ ตอกย้ำเบอร์ 1 ด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนฯ

ข่าวทั่วไป Monday May 18, 2015 17:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ -สจล. บูรณาการความร่วมมือ 3 คณะเตรียมนำร่องส่งอาหารเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติ 5,000 ชุด ช่วยเนปาล หลังพบปัญหาขาดแคลนอาหารหลังแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตอกย้ำสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รุกเปิดตัว 4 นวัตกรรมอาหารนำร่องสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ ได้แก่ข้าวผัดคืนชีพ ข้าวต้มเอนเนอยี่ ซุปสีฟื้นไข้ ข้าวเหนียวเปียกลำไยให้พลังงาน โดยกลุ่มอาหารดังกล่าวมีคุณสมบัติ ช่วยให้อิ่มท้องนาน ครบถ้วนสารอาหารที่จำเป็น ย่อยง่าย ทานได้ทั้งเด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ให้พลังงานเร่งด่วน บรรจุในภาชนะกระป๋อง พร้อมรองรับสำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในยุคปัจจุบันที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีความถี่ในการเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ โดยสถาบันมีแผนนำร่องในการส่งผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ จำนวน 5,000 ชุด ไปยังพื้นที่ประสบภัยพิบัติประเทศเนปาลต่อไป อย่างไรก็ดี สจล. ยังมีโครงการวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์อาหารอย่างหลากหลาย ที่จะสามารถพัฒนา และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ ในอนาคต อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์อาหารแคปซูลสำหรับนักอวกาศ และผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ป่วย โรคเฉพาะทาง อันสอดคล้องภายใต้แนวคิด “รากฐานนวัตกรรมสร้างชาติ: The Nation of Innovation” สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมของโลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และมีเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สึนามิ แผ่นดินไหว หรือ การเกิดน้ำท่วมใหญ่ เป็นต้น ซึ่งภัยพิบัติเหล่านี้มีความถี่ในการเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย และเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ โดยเฉพาะในเรื่องของการขาดแคลนอาหารการกินในช่วงสถานการณ์ภัยพิบัติ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางสถาบันได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด จึงได้มีการบูรณาการความรู้ด้านอุตสาหกรรมการเกษตรเข้ากับความรู้ด้านวิศวกรรมอาหาร มาประยุกต์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติขึ้น เพื่อรองรับสำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ด้วยความร่วมมือระหว่างคณะอุตสาหกรรมการเกษตร และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของ สจล.จึงก่อเกิดเป็นโครงการวิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ” ซึ่งประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์อาหาร 4 อย่าง ได้แก่ ข้าวผัดคืนชีพ ข้าวต้มเอนเนอยี่ ซุปสีฟื้นไข้ ข้าวเหนียวเปียกลำไยให้พลังงาน ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตในช่วงสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง อิ่มท้องนาน อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ โดยบรรจุในภาชนะกระป๋อง ที่มีความสะอาด และปลอดภัย สะดวกต่อการบริโภค มีอายุการเก็บรักษานาน และสามารถขนส่งได้ในระยะทางไกล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปันน้ำใจ ส่งความช่วยเหลือไปยังเพื่อนมนุษย์ในประเทศต่างๆที่อาจประสบภัยพิบัติในอนาคตได้ โดยทางสถาบันมีแผนนำร่องในการส่งผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ จำนวน 5,000 ชุด ไปยังพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ประเทศเนปาลต่อไป อย่างไรก็ดี เนื่องจาก สจล. เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรคุณภาพในสาขาที่ขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีพันธกิจในการพัฒนาประเทศชาติ และตอบแทนสังคมมาอย่างยาวนาน ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ผ่านการพัฒนาโครงการวิจัย และสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ภายใต้แนวคิด “รากฐานนวัตกรรมสร้างชาติ: The Nation of Innovation” จึงได้มีโครงการวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์อาหารอย่างหลากหลาย ที่จะสามารถพัฒนา และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ในอนาคต อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์อาหารแคปซูลสำหรับนักอวกาศ หรือสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไกลไปในถิ่นทุรกันดาร โดยจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ลดภาระในการแบกน้ำหนัก-ขนาด ของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเฉพาะทาง เป็นต้น ด้าน ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล รองคณบดี คณะอุตสาหกรรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ” กล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปสำหรับการบริโภคในช่วงสถานการณ์ภัยพิบัตินั้น ต้องคำนึงถึงความสำคัญในหลายด้านด้วยกัน ได้แก่ การให้พลังงานและสาอาหารที่ครบถ้วน ความสะอาดและปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงความสามารถการขนส่งไปยังพื้นที่ประสบภัยที่เข้าถึงได้ยาก และมีความห่างไกล ตลอดจนต้องสามารถรับประทานได้ในทุกวัย และในทุกศาสนาที่มีความเชื่อแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ด้วย 4 ผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนาขึ้นในโครงการวิจัยนี้ อันประกอบไปด้วย 1. ข้าวผัดคืนชีพ – เป็นอาหารที่มีส่วนประกอบหลักคือข้าว ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานเร็ว สามารถเพิ่มความอยากอาหารในช่วงสภาวะความเครียดได้ ผสมผสานกับธัญพืชอย่างข้าวบาร์เล่ย์ ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยช้าช่วยให้อิ่มท้องได้นาน สุดท้ายเพิ่มด้วย ถั่วดำ ถั่วแดง เพื่อเป็นการทำให้มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน รวมถึงมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคในสภาวะฉุกเฉิน 2. ข้าวต้มเอนเนอยี่ – ผลิตภัณฑ์ข้าวต้มข้าวกล้องหอมมะลิแดง เป็นอาหารที่ทานได้ทั้งผู้ป่วย เด็ก และผู้สูงอายุที่ต้องการอาหารที่ย่อยง่ายมีคุณสมบัติเด่นทางด้านโภชนาการ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนซึ่งให้พลังงานแก่ร่างกายอย่างช้าๆ โปรตีนช่วยเสริมสร้างซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ไขมันชนิดที่ไม่อิ่มตัวที่ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกายอุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิด มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง อีกทั้งยังมีเส้นใยอาหารที่ดีสูง ช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวก 3. ซุปสีฟื้นไข้ – เป็นอาหารที่ให้พลังงานอย่างช้าๆ จากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่ประกอบไปด้วย ข้าวกล้องหอมมะลิข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ และข้าวกล้องหอมนิล มีโปรตีนช่วยเสริมสร้างซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อุดมไปด้วยวิตามินบี และวิตามินอี มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง รับประทานได้ง่ายในทุกวัยทั้ง เด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วย อีกทั้งยังมีเส้นใยอาหารที่ดีสูง ช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวก 4. ข้าวเหนียวเปียกลำไยให้พลังงาน – เป็นขนมหวาน ที่มีคาร์โบไฮเดรตจากข้าวเหนียว และกรดไขมันสายกลางจากกะทิที่ให้พลังงานสูง โดยร่างกายสามารถนำมาย่อยใช้เป็นพลังงานได้ทันที ผสมด้วยแปะก๊วย ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงและช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ อีกทั้งมีเม็ดบัวที่ให้โปรตีนสูง ช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอทั้งนี้ ทุกผลิตภัณฑ์ เมื่อปรุงเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการบรรจุกระป๋อง และปิดฝากระป๋อง หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ ดำเนินการโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านความสะอาดและปลอดภัยของอาหาร โดยการนำผลิตภัณฑ์อาหารไปผ่านการสเปรย์น้ำร้อนจัดในหม้อฆ่าเชื้อสำหรับอาหารกระป๋อง (Water Spray Retort) ที่สามารถปรับแรงดันอากาศได้ ใช้ความร้อนประมาณ 120 องศาเซลเซียส ส่วนระยะเวลาที่ใช้ขึ้นอยู่กับปริมาตรกระป๋อง และลักษณะของอาหาร ทั้งนี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถเก็บรักษาได้นาน และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค เน้นป้องกันการเกิดโรคท้องร่วงจากนั้นติดฉลากบนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความร่วมมือในออกแบบโดยนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม สจล. จึงถือเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ โดยจะได้ผลิตภัณฑ์บรรจุกระป๋องพร้อมรับประทาน และเตรียมพร้อมสำหรับการส่งไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังตกอยู่ในสภาวะยากลำบากจากการประสบภัยพิบัติ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการจัดทำโครงการวิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร สำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ” ดร. นภัสรพี กล่าวสรุปสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ