ก.พลังงาน สรุปผลเยือนเมียนมา ประสบผลสำเร็จบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นด้านพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 16, 2015 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น ก.พลังงาน สรุปผลเยือนเมียนมา ประสบผลสำเร็จบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นด้านพลังงาน พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการร่วม ไทย - เมียนมา สร้างความร่วมมือด้านปิโตรเลียม เพิ่มโอกาสการค้าขาย ศึกษาด้านการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายร่วมกัน และความร่วมมือด้านเทคนิคสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ด้านไฟฟ้า เพิ่มความร่วมมือครบวงจร ทั้งทางด้านการผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่าย และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยลงทุนด้านพลังงานในเมียนมาเพิ่มขึ้น นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการเดินทางไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 15 มิย. ที่ผ่านมา ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงพลังงานได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องพลังงาน (MOU.) ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมียนมา อู เซยา ออง (H.E. U Ze Yar Aung) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไฟฟ้าเมียนมา อู คิน หม่อง โซ (H.E. U Khin Maung Soe) โดยมี ดร.สาย หมอก คำ (H.E. Dr.Sai Mauk Knam) รองประธานาธิบดีเมียนมา และ มรว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกันเป็นประธานและเป็นสักขีพยานในการลงนามฯ ครั้งนี้ ทั้งนี้ สาระสำคัญของการลงนาม MOU. ระหว่างประเทศไทย และเมียนมาครั้งนี้ จะเกิดความร่วมมือด้านพลังงานที่สำคัญของ 2 ประเทศร่วมกัน ทั้งด้านความร่วมมือปิโตรเลียมกับกระทรวงพลังงานเมียนมา และความร่วมมือด้านไฟฟ้ากับกระทรวงไฟฟ้าเมียนมา ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างประเทศไทยและเมียนมา ซึ่งจะมี 2 คณะที่สำคัญคือ ด้านปิโตรเลียม และด้านไฟฟ้า โดยจะมีระดับปลัดกระทรวงพลังงานของทั้งฝ่ายไทย และเมียนมา มาเป็นประธานร่วม ทั้ง 2 คณะฯ ความร่วมมือเบื้องต้นตาม MOU ระหว่างประเทศไทยและเมียนมา ฉบับที่ 1 ที่ว่าด้วยเรื่องพลังงานด้านปิโตรเลียม ขอบเขตความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือพัฒนาธุรกิจและค้าขาย ขยายความร่วมมือด้านการปรับปรุงและพัฒนาไปสู่ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ความร่วมมือด้านเทคนิคในการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม การพัฒนาระบบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และแนวทางการพัฒนาบุคลากร โดยเบื้องต้นได้มีแนวคิดในการพัฒนาโรงเรียนอาชีวะศึกษาด้านปิโตรเลียมให้กับเมียนมา เป็นต้น ความร่วมมือเบื้องต้นตาม MOU. ระหว่างประเทศไทยและเมียนมาฉบับที่ 2 ว่าด้วยเรื่องพลังงานไฟฟ้า ขอบเขตความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ เมียนมาสนใจรับทราบนโยบายด้านการเปิดให้ภาคเอกชนของไทยมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ทั้งในรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้าในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แนวทางการพัฒนาบุคลากรทางเทคนิคความรู้ทางวิศวกรรมการผลิต และการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยความร่วมมือด้านไฟฟ้านี้ ทั้งประเทศไทยและเมียนมา จะเกิดความร่วมมือ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านระบบผลิต (Generation) ด้านระบบส่ง (Transmission) จะมีการศึกษาและพัฒนาระบบเชื่อมโยงสายส่งร่วมกัน และด้านระบบจำหน่าย (Distribution) จะเกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในระดับปฏิบัติการต่อไป
แท็ก ก.พ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ