รุกเกษตรแปลงใหญ่ นำร่อง อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา สู่การพัฒนาเชิงพื้นที่เต็มประสิทธิภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday June 18, 2015 11:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ทดสอบทำแนวทางพัฒนาสินค้าเกษตรเชิงพื้นที่ รองรับการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และการพัฒนาสินค้าเกษตรภายใต้เขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือ zoning เจาะพื้นที่นำร่อง อำเภอคลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา สู่การจัดทำแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 (ส่วนแยกจังหวัดฉะเชิงเทรา) เปิดเผยว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำหนดให้มีการส่งเสริมการเกษตรในระบบแปลงใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรที่สำคัญที่ขาดดุลยภาพด้านอุปสงค์ และอุปทานโดยให้ดำเนินการพัฒนาสินค้าเกษตรภายใต้เขตเกษตรเศรษฐกิจ (zoning) ที่ได้มีการกำหนดไว้ ในเรื่องดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 (สศท.1-12) ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ได้ร่วมกันจัดทำแนวทางการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเชิงพื้นที่ เพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว และใช้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในระดับพื้นที่ เพื่อปรับปรุงการพัฒนาสินค้าเกษตรในพื้นที่ที่รับผิดชอบร่วมกัน ในการนี้ ได้ลงพื้นที่อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 10-12 มิถุนายนที่ผ่านมา รวม 5 ตำบล ได้แก่ บางโรง บางตลาด คลองเขื่อน บางเล่า และก้อนแก้ว เพื่อทดสอบการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ต้นทุน รายได้-รายจ่ายครัวเรือนเกษตรกร ผลผลิตในพื้นที่ เช่น ข้าว มะม่วง มะพร้าว หมาก ปลา กุ้งขาวแวนนาไม เป็นต้น ตลอดจนแนวทางการสัมภาษณ์เกษตรกรที่ถูกต้อง โดยเน้นวิธีการทำงานในสถานการณ์จริงในพื้นที่ สำหรับจัดทำแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเชิงพื้นที่ รองรับการส่งเสริมการเกษตรในระบบแปลงใหญ่ ภายใต้กรอบการปรับโครงสร้างสินค้าเกษตร และการพัฒนาสินค้าเกษตรภายใต้เขตเกษตรเศรษฐกิจ (zoning) ทั้งนี้ พื้นที่อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา นับเป็นพื้นที่นำร่องการดำเนินงานการส่งเสริมการเกษตร ในระบบแปลงใหญ่ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฯ โดยบูรณาการร่วมกับทีมงานของเกษตรอำเภอคลองเขื่อน โดย เจ้าหน้าที่ สศท.1-12 ได้ร่วมกันจัดแบ่งทีมงานจัดเก็บข้อมูล และเรียนรู้ วิธีการทำงานตามกรอบแนวคิด และทฤษฎีที่กำหนดไว้ในสถานการณ์จริงในพื้นที่ทุกตำบล และนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เทคนิค วิธีการ ปัญหา อุปสรรคซึ่งกันและกัน ซึ่งคาดว่า หลังจากที่ได้มีการทดลองปฏิบัติจริงในพื้นที่ร่วมกันภายใต้สถานการณ์สมมุติต่างๆ จะสามารถนำไปจัดทำแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทราบถึงแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนา ปรับปรุง และส่งเสริมผลผลิตอย่างถูกต้อง อีกทั้งสามารถใช้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการดำเนินงานบริหารจัดการสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นายบุญลาภ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ