สพฉ. เตือนตรวจสอบไฟรั่วช่วงฤดูฝนป้องกันการสูญเสียก่อนเกิดเหตุไฟฟ้าช็อต

ข่าวทั่วไป Monday June 22, 2015 12:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แนะวิธีการปฐมพยาบาล หากหยุดหายใจต้องรีบช่วยฟื้นคืนชีพ ย้ำก่อนถูกตัวผู้บาดเจ็บต้องตัดกระแสไฟฟ้า หาวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้าป้องกันตัว นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้เกิดพายุฝน ลมแรงในหลายพื้นที่ ซึ่งภัยที่น่าเป็นห่วงในช่วงนี้นอกจากอุบัติเหตุแล้ว ยังมีอันตรายจากไฟฟ้า ทั้งไฟดูด ไฟรั่ว และไฟช็อต ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า แต่ละบ้านควรตรวจสอบก่อนว่าภายในบ้านไม่มีกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไม่ โดยวิธีการตรวจสอบง่ายๆ คือ ให้ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด แล้วดูที่มิเตอร์ว่าแผ่นจานในมิเตอร์หมุนหรือไม่ หากหมุนอยู่ก็แสดงว่าไฟฟ้าในบ้านรั่วจะต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือต้องตรวจสอบเครื่องตัดไฟ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ สำหรับอาการของคนที่ถูกกระแสไฟฟ้าช็อตนั้น ขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าที่โดนช็อตรุนแรงเพียงใด บางครั้งอาจเพียงแค่ทำให้ล้มลงกับพื้น หรืออาจถึงขั้นรุนแรงคือมีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หายใจเร็ว หมดสติ และหยุดหายใจหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้อาจทำให้เกิดบาดแผลไหม้ตรงผิวหนังและกินลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง นพ.อนุชา กล่าวต่อถึง การช่วยเหลือว่าก่อนอื่นผู้ที่เข้าช่วยเหลือจะต้องตั้งสติ และหากพบผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ผ่านสายด่วน 1669 โดยต้องจำไว้เสมอว่าห้ามสัมผัสตัวผู้ถูกไฟช็อตด้วยมือเปล่าเด็ดขาด ควรใช้วัสดุที่ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้าป้องกันตัวก่อน เช่น ถุงมือยาง ผ้าแห้ง พลาสติกแห้ง เป็นต้น และจะต้องตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที ยกเว้นเป็นสายไฟแรงสูง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย จากนั้นให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปในพื้นที่ปลอดภัย เพราะบางครั้งสถานที่ที่ถูกไฟช็อตอาจอยู่ใกล้ป้ายโฆษณา หรือต้นไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายซ้ำได้ โดยต้องเคลื่อนย้ายอย่างถูกวิธีด้วย เพราะบางครั้งการเคลื่อนย้ายอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บมากขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากไฟบ้านทั่วไป และมีเพียงบาดแผลไม่ลึก ไม่มีอาการผิดปกติอื่น สามารถสังเกตอาการที่บ้านได้ ยกเว้น ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคไต โรคหัวใจ ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการอีกครั้ง ส่วนผู้ป่วยที่หมดสติ จะต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจหรือไม่ หากหยุดหายใจจะต้องรีบทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ (CPR) ทันที

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ