ธนาคารออมสินเปิดธนาคารออมสินอิสลาม สาขาปัตตานี และยะลา

ข่าวทั่วไป Wednesday March 10, 1999 14:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--10 มี.ค.--ธนาคารออมสิน
ธนาคารออมสิน กำหนดเปิดบริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลามธนาคารออมสินสาขาปัตตานี และสาขายะลา โดยเรียนเชิญจุฬาราชมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิด ขั้นต้นเปิดให้บริการด้านเงินฝาก การลงทุน การเช่าซื้อและผ่อนส่งทรัพย์สินอันไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม
ธนาคารออมสิน กำหนดเปิดให้บริการ "บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม" หรือที่รู้จักกันในนาม "ธนาคารปลอดดอกเบี้ย" เป็นแห่งที่ 2 และ 3 หลังจากที่ได้เปิดให้บริการแห่งแรกที่สาขาสตูลไปแล้ว ซึ่งธนาคารออมสินได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้ว พร้อมทั้งได้กำหนดเปิดทำการเพิ่มอีก 2 สาขา คือ ในวันพุธที่ 10 มีนาคม 2542 ณ ธนาคารออมสินสาขาปัตตานี และในวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2542 ณ ธนาคารออมสินสาขายะลา โดยได้เรียนเชิญ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี มาเป็นประธานในพิธีเปิดเวลา 08.00 น.
บริการทางการเงินที่จะเปิดให้บริการ มีทั้งด้านเงินฝากและการลงทุน ดังนี้ คือ เงินฝากวาดิอ๊ะห์ เงินฝากเพื่อทำฮัจน์และอุมเราะฮ์ เงินฝากมูฎอรอบ๊ะฮ์ และด้านการลงทุน
1. เงินฝากวาดิอ๊ะห์ เป็นการฝากเงินที่ผู้ฝากมีความประสงค์จะรักษาความปลอดภัยของเงิน ฝากครั้งละไม่ต่ำกว่า 100 บาท สามารถเบิกถอนได้เมื่อต้องการ
2. เงินฝากเพื่อทำฮัจน์และอุมเราะฮ์ เป็นการฝากที่ผู้ฝากมีจุดประสงค์ต้องการจะสะสมเงินออมไว้ให้เพียงพอที่จะใช้ในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจน์และอุมเราะห์ของตนเอง ธนาคารฯ จะเป็นแหล่งสะสมเงินดังกล่าวให้ผู้ฝากเพื่อความปลอดภัย เป็นการฝากระบุจำนวนเงินที่แน่นอนเป็นรายเดือน ฝากขั้นต่ำตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป
3. เงินฝากมูฎอรอบ๊ะฮ์ เป็นการฝากเงินที่ผู้ฝากมีความประสงค์จะร่วมลงทุนกับธนาคาร โดยจะได้รับปันผลจากกำไรที่นำไปลงทุนในกิจการที่ไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม ผลกำไรจะถูกแบ่งคืนให้ผู้ฝากตามสัดส่วนที่ได้ตกลงกันไว้ในบัตรเงินฝาก ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา กำหนดเงินฝากไว้ครั้งละไม่ตำกว่า 10,000 บาท มีระยะเวลา 12 เดือน และ 24 เดือน
4. ด้านการลงทุนของโครงการบริหารทางการเงิน ตามหลักศาสนาอิสลาม ในระยะแรกที่เปิดดำเนินงาน ธนาคารฯ ได้กำหนดรูปแบบการลงทุนไว้ 2 ลักษณะ คือ
1. โดยการนำเงินมาลงทุนด้านการขายสินค้าผ่อนส่ง และการให้เช่าซื้อทรัพย์สินให้แก่ผู้ขอใช้บริการ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ที่ไม่เป็นสินค้าต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม เช่น เช่าซื้อรถยนต์ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เช่าซื้อที่ดินพร้อมอาคาร เป็นต้น
2. โดยการลงทุนในกิจการต่างๆ ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารและที่ปรึกษาของโครงการ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ