นักลงทุนไทยจำกัดโอกาสในการรับผลตอบแทนของตัวเอง ด้วยการถือครองเงินสดถึงร้อยละ 50 ของสินทรัพย์เพื่อการลงทุน – บลจ. แมนูไลฟ์

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 2, 2015 11:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--บลจ.แมนูไลฟ์ นักลงทุนทั่วภูมิภาคเอเชียกำลังเสียโอกาสในการลงทุนมากขึ้นทุกปี อันเนื่องมาจากผลตอบแทนจากเงินออมโตช้ากว่าต้นทุนต่างๆ เนื่องจากการจัดสรรสินทรัพย์ที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งนักลงทุนไทยก็ประสบปัญหาเช่นนี้เหมือนกันจากการถือครองเงินสดมากเกินไป จากรายงานล่าสุดของ Manulife Asset Management พบว่า ทุกย่างก้าวที่นักลงทุนในเอเชียโดยทั่วไปเดินไปข้างหน้าเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดมุ่งหมายทางการเงิน มีหลายคนต้องถอยกลับมาครึ่งก้าว เพราะต้นทุนของจุดมุ่งหมายนั้นๆ สูงขึ้น จากรายงานชิ้นที่ 6 ในชุดรายงาน Aging Asia Series ที่ใช้ชื่อว่า เดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังครึ่งก้าว : การบรรลุจุดมุ่งหมายทางการเงินในเอเชีย (One Step Forward, Half a Step Back: Meeting Financial Goals in Asia- Manulife Asset Management's Aging Asia Series) รายงานนี้กล่าวว่า นักลงทุนชาวเอเชียโดยทั่วไป กำลังเผชิญกับโอกาสในการรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่น้อยเกินไปถึงร้อยละ 3.3 (ไม่รวมญี่ปุ่น) ต่อปี แม้อัตราร้อยละดูจะไม่มาก แต่หากมองในระยะเวลา 10-20 ปีแล้ว จะเห็นว่าเป็นจำนวนที่มากทีเดียว ผลตอบแทนที่ขาดไปนี้ เกิดจากต้นทุนของเป้าหมายทางการเงิน 5 ประการ ซึ่งได้จากทำการสำรวจ ของแมนูไลฟ์ ได้แก่ เงินใช้ยามเกษียณ ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาที่สูงขึ้นของลูก การมีรายได้ที่เพียงพอกับค่าครองชีพในปัจจุบัน การซื้อบ้านที่อยู่อาศัย และเงินสำรองยามฉุกเฉิน (ซึ่งรวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า) โดยต้นทุนเพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 6% ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (ไม่รวมญี่ปุ่น) และข้อมูลจากการสำรวจเดียวกัน ก็พบว่าผลตอบแทนที่กลุ่มตัวอย่างได้รับจากการลงทุนโดยเฉลี่ยเพียงปีละ 2.7% ในระยะเวลาเดียวกัน (ไม่รวมญี่ปุ่น) คุณต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า "จากผลการสำรวจพบว่า ใกล้เคียงกับสถานการณ์ของนักลงทุนในไทยมาก ตรงที่ต้นทุนของภาระทางการเงินหลักๆ กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น เงินที่คนไทยจะต้องควักกระเป๋าจ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลสูงขึ้นถึง 7.2% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น 7.3% ต่อปีในช่วงเดียวกัน" "ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่แปลกเลยที่ผลตอบแทนที่นักลงทุนไทยได้รับ จะต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนของภาระทางการเงิน เราพบว่าประมาณ 51% ของสินทรัพย์ภาคครัวเรือนในประเทศไทยอยู่ในรูปของเงินสดหรือเงินฝาก ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียงปีละ 2.0% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หากโยกการถือครองเงินสดนี้ไปเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น หลักทรัพย์ (หุ้น) จะช่วยนักลงทุนเหล่านี้ให้สามารถปรับผลตอบแทนให้เพียงพอกับ หรือเกินอัตราเติบโตของต้นทุนภาระทางการเงินหลัก ตัวอย่างเช่น หุ้นไทย ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 14.0% ต่อปีในช่วง 5 ปีมานี้ 5 แม้จะต้องผ่านช่วงเวลาแห่งการผันผวนสูงก็ตาม นายไมเคิล ดอมเมอร์มุตท์ (Mr. Michael Dommermuth) รองประธานและหัวหน้าบริหารสินทรัพย์ (Head of Wealth & Asset Management) Manulife Asset Management กล่าวเสริมว่า "นักลงทุนชาวไทยไม่ได้เป็นชาติเดียวที่ถือครองเงินสดมากเกินไป ข้อมูลจากตัวอย่างตลาดที่สำรวจมาพบว่ากว่า 37% ของสินทรัพย์ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจมา มีการถือเงินสดในสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งให้ผลตอบแทนเพียงปีละ 2.0% ในช่วง 5 ปีมานี้ (ไม่รวมญี่ปุ่น) ขณะที่นักลงทุนในตลาดที่กำลังพัฒนาหลายแห่งในภูมิภาคนี้ มีข้อจำกัดในการเลือกตลาดและประเภทของสินทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้ แต่สำหรับนักลงทุนชาวไทย ที่มีโอกาสพอๆ กับนักลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้วในภูมิภาคนี้ มีทางเลือกพอที่จะโยกเงินสดส่วนหนึ่งไปลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้ เพื่อที่จะให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และให้เพียงพอกับต้นทุนของภาระทางการเงินหลัก ในความเสี่ยงระดับปานกลาง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานชุดการเข้าสู่วัยชราของชาวเอเชีย และแหล่งข้อมูลอื่นๆ ทีเกี่ยวข้อง หาอ่านได้ที่www.manulifeeam.com/agingasia
แท็ก เอเชีย   SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ