กระทรวงวิทย์ฯ จัดหนัก ส่งศูนย์ CRDC ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์วิจัยเอกชน

ข่าวทั่วไป Tuesday August 18, 2015 14:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--All Success PR กระทรวงวิทย์ฯ จัดหนัก ส่งศูนย์ CRDC ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์วิจัยเอกชนมาที่เดียวได้ครบ ชวนภาคการศึกษา นำนวัตกรรมเจ๋งลงจากหิ้ง เร่งติดอาวุธอุตสาหกรรมไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิด ”ศูนย์ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในประเทศไทย (CRDC-FC)” ให้บริการแบบ One Stop Solution มาที่เดียวได้ครบ ทั้งคำแนะนำด้านการวิจัยพัฒนา นวัตกรรมใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ แหล่งเงินทุนงานวิจัย แรงงานและบุคลากรคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์ เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการวิจัย รวมถึงความร่วมมือด้านการค้าและการตลาดจากกลุ่มธุรกิจ บริษัทยักษ์ใหญ่ SME ขานรับนโยบาย เข้าร่วมงานโชว์ผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมสุดเจ๋ง หวังสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนงานวิจัยและพัฒนาภายในประเทศให้ได้ร้อยละ 1 ของจีดีพี โดยให้เอกชน ร่วมกับภาครัฐและภาคการศึกษาอย่างเข้มแข็ง ซึ่งกระทรวงวิทย์ฯ พร้อมจะเป็นข้อต่อเชื่อมโยงทุกระทรวง ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเอกชนไทย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานการเปิดตัวศูนย์ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของเอกชนไทย หรือ ศูนย์ CRDC เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558 ณ อาคารบัณฑิตวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) ชั้น 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยได้กล่าวว่า ศูนย์ CRDC จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในรูปแบบ One Stop Solution ให้กับธุรกิจทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการสร้างศูนย์วิจัยขนาดใหญ่ให้แก่บริษัทไทย หรือบริษัทต่างชาติที่ต้องการมาลงทุนด้านวิจัยพัฒนา การให้คำแนะนำด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แหล่งทุนด้านงานวิจัย การถ่ายทอดองค์ความรู้นวัตกรรม เพื่อส่งเสริมธุรกิจ SME เป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ตรงกับความต้องการภาคเอกชน ศูนย์ CRDC ถือเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ครบวงจร ทั้งในกลุ่มภาคเอกชนเอง โดยมีภาครัฐ และสถาบันการศึกษาสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง เป็นที่เชื่อมโยงนักธุรกิจและนักวิจัยในการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพด้วยนวัตกรรม และยังเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโอกาสในการฝึกงานจากประสบการณ์จริงให้เด็กรุ่นใหม่ได้อีกด้วย การบริการของศูนย์ CRDC ครอบคลุมใน 3 ด้านซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนานวัตกรรม คือ การบริการให้คำปรึกษา การประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) การบริการด้านการออกแบบทางวิศวกรรม (Design) และการบริการให้คำแนะนำในการสร้างสรรค์วัสดุ (Material) ซึ่งรวมถึงคำแนะนำด้านการประยุกต์ใช้นวัตกรรม การใช้กฎหมายสิทธิประโยชน์ รวมทั้งภาษีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ดร.พิเชฐ เผยว่า นโยบายหลักที่กระทรวงวิทย์ฯ ได้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายลดหย่อนภาษี 300% จากการลงทุนด้านวิจัยพัฒนา หรือการบริจาคเงินเข้ากองทุนของรัฐ การผลักดันโครงการ Talent Mobility หรือนโยบายส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยภาครัฐ ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน ศูนย์ CRDC ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เร่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ยกระดับขีดความสามารถของประเทศได้อย่างยั่งยืน ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงศ์ รองเลขาธิการ สวทน. ในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งศูนย์ CRDC กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทใหญ่หลายแห่งนำร่องร่วมมือกับภาครัฐผ่านศูนย์ CRDC แล้วอาทิ บริษัท Honda R&D Asia Pacific ได้นำเสนอความร่วมมือในการจัดตั้ง R & D Automotive Hub in Asia โดยใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการสร้างสรรค์รถยนต์สำหรับภูมิภาคเอเชีย บริษัท Ford Motor กำลังวางแผนให้เกิด Training Center เพื่อพัฒนาบุคลากรและให้ความร่วมมือกับหลายมหาวิทยาลัยในการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ด้านยานยนต์ให้แก่บุคลากรในภาคการศึกษา บริษัท Western Digital Thailand ได้ร่วมมือภาครัฐในการจัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมด้านอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ กับหลายมหาวิทยาลัย บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) มีแผนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและพลังงานทดแทน ร่วมกับภาคการศึกษา ต่อยอดจากงานวิจัยของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ดร.กิติพงค์ กล่าวต่อว่า มีบริษัทต่างชาติได้ให้ความสนใจในการทำความร่วมมือด้านการลงทุนศูนย์วิจัยขนาดใหญ่ผ่านศูนย์ CRDC เช่น บริษัท Robert Bosch ผู้ผลิตระบบน้ำมันเบนซิน ดีเซล ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ที่จะเข้ามาลงทุนศูนยวิจัยและพัฒนาในมหาวิทยาลัยเพื่อเชื่อมโยงเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้าให้กับภาคการศึกษา นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง การปลูกฝังค่านิยมตลอดจนวัฒนธรรมการทำงานแบบมืออาชีพ เป็นการพัฒนากำลังคนเพื่อภาคเอกชนอย่างตรงจุด บริษัท Schaeffer Thailand บริษัทผลิตตลับลูกปืนและชิ้นส่วนในเครื่องยนต์ บริษัท Lockheed Martin ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการบินและอวกาศ และบริษัท JN Mechanics ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องบินไร้คนขับ (drone) ทั้ง 2 บริษัทได้ให้ความสนใจในการร่วมพัฒนางานวิจัยในประเทศไทย ในด้านการให้การสนับสนุน SME ศูนย์ CRDC สามารถถ่ายทอดส่งผ่านนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ตอบโจทย์ความต้องการให้แก่ผู้ผลิต โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น บริษัทซีโกส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการสนับสนุนด้านการออกแบบและผลิตรถแข่งต้นแบบภายใต้แบรนด์ไทย ทั้งด้านโปรแกรมวิเคราะห์เพื่อจำลองสภาวะการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงของรถยนต์ และการใช้อุโมงค์ลม บริษัท Metal Fine (Thailand) ที่ศูนย์ CRDC กำลังประสานงานเพื่อพัฒนาการพ่นเย็นบนชิ้นงานโลหะ เพื่อให้เกิดวัสดุคุณภาพดี แข็งแรง ทนความร้อนสูง และยืดอายุชิ้นงานได้ บริษัท Exedy Friction Material ผู้ผลิตผ้าคลัทซ์รถจักรยานยนต์และรถยนต์เข้ารับการสนับสนุนการตั้งห้องแลปวิจัยทดสอบการรับแรงเสียดทาน บริษัทนาโนชิลด์ ซึ่งกำลังดำเนินการวิจัยเรื่องการเคลือบผิวใบพัดสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าร่วมกับ กฟผ., บริษัท ชวโชติ ซึ่งเป็นบริษัท SME ที่สามารถผลิตเตาอบอุณหภูมิสูงกว่าพันองศาเซลเซียส และ บริษัทชวโชติยังร่วมทำงานวิจัยกับ บริษัทเอสวี นิททัน ในการผลิตตู้แช่แข็งลดอุณหภูมิได้ถึงลบร้อยเก้าสิบองศาเซลเซียสเพื่อพัฒนาวัสดุคาร์ไบด์ในประเทศไทย โดยศูนย์ CRDC ได้เป็นตัวกลางการประสานเครือข่ายระหว่างธุรกิจจนประสบความสำเร็จ คาดว่าการลงทุนด้านวิจัยพัฒนาโดยเอกชนที่ศูนย์ CRDC กำลังดำเนินการประสานงานจะสูงถึง 5,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ด้าน ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดี มจพ.กล่าวถึงโครงการการจัดตั้งศูนย์ CRDC สามารถเชื่อมโยงนักวิจัยกับภาคเอกชนในการนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ได้ตรงตามความต้องการของตลาด ศูนย์ CRDC ยังเป็นที่บ่มเพาะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากความร่วมมือด้านการสร้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลในในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมให้แก่นักศึกษาอีกด้วย ในวันเปิดตัวศูนย์ CRDC ทาง มจพ.ยังได้นำผลงานนวัตกรรมฝีมือนักศึกษามาจัดแสดง อาทิ ต้นแบบดาวเทียมฝีมือคนไทยที่จะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในอนาคตอันใกล้ โดยอาจารย์และนักศึกษาภาควิศวกรรมการบิน หุ่นยนต์กู้ภัย เหล็กกันสนิม อุปกรณ์วินิจฉัยโรค เป็นต้น มาจัดแสดง ภาคเอกชนที่สนใจเข้ารับคำแนะนำจากศูนย์สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในประเทศไทย (Company R&D Center Facilitation Center –CRDC-FC) ชั้น 9 ตึกบัณฑิตวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 1518 ถนนประชาราษฎร์ 1 แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 โทร: +66 2150 9560 โทรสาร: +66 2150 9561

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ