ททท. - บัตรเครดิตยูโอบี เลดี้ชวนเวิร์คกิ้งวูเมนออกท่องเที่ยว สัมผัสภูมิปัญญาวิถีไทย-วิถีชาวเลที่ปลายด้ามขวาน จ.สตูล

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday August 19, 2015 17:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ไนน์ตี้ไนน์ คอมมิวนิเคชั่น เอเจนซี่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ร่วมกับ บัตรเครดิตยูโอบี เลดี้ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) นำผู้หญิงทำงาน ครอบครัวและกลุ่มเพื่อนท่องเที่ยวพร้อมเรียนรู้ความเป็นไทย ในโครงการ เลดี้ เจอร์นีย์ 2558 (Lady Journey 2015) “เรียนรู้ภูมิปัญญาไทยสู่วิถีไทย” กับเส้นทางท่องเที่ยว “วิถีไทย – วิถีชาวเล” จังหวัดสตูล ระหว่างวันที่ 14-16 สิงหาคม 2558 นางภัทรพร สิทธิวนิช ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เส้นทางท่องเที่ยว “วิถีไทย – วิถีชาวเล” จังหวัดสตูล นับเป็นเส้นทางที่ 4 ของโครงการ เลดี้ เจอร์นีย์ 2558 (Lady Journey 2015) “เรียนรู้ภูมิปัญญาไทยสู่วิถีไทย” ที่ททท. ได้ร่วมกับ บัตรเครดิตยูโอบี เลดี้ จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนกลุ่มสาวๆ วัยทำงานคู่แม่ลูกคู่เพื่อนคู่พี่น้อง ออกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้มากขึ้น พร้อมเรียนรู้วิถีไทย ภูมิปัญญาไทยของท้องถิ่นนั้นๆ อันหลอมรวมคนในชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสร้างความเข้าใจถึงประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ถือเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ให้ทั้งความสุข ความสนุกสนาน และความรู้ ที่สำคัญยังเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง ซึ่งเส้นทางที่ ททท. นำเสนอนี้ เป็นเส้นทางที่เวิร์คกิ้งวูเมน จะสามารถนำครอบครัว เพื่อนๆ ไปเที่ยวโดยใช้ระยะเวลาสั้นๆ สะดวกต่อการเดินทาง ใช้เวลาเพียง 3 วัน 2 คืน ก็สามารถเก็บประสบการณ์ ความประทับใจ ไปเป็นพลังในการทำงานได้แล้ว นายยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจธนาคารยูโอบี กล่าวว่า ธนาคารยูโอบี โดย บัตรเครดิตยูโอบี เลดี้ ต้องการสนับสนุนโครงการดีๆให้ผู้หญิงยุคใหม่ที่รักอิสระได้เดินทางท่องเที่ยว พักผ่อนในเมืองไทย ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาไทย ในแบบวิถีไทยที่ทางโครงการได้จัดขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย และบัตรเครดิต ยูโอบี เลดี้ ก็พร้อมที่จะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปกับสาวๆ เพื่อให้ความสะดวกในทุกการใช้จ่ายเป็นเรื่องง่ายในการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยอีกด้วย โครงการ เลดี้ เจอร์นีย์ 2558 (Lady Journey 2015) “เรียนรู้ภูมิปัญญาไทยสู่วิถีไทย” กับเส้นทางท่องเที่ยว “วิถีไทย – วิถีชาวเล” จังหวัดสตูลได้พาสาวๆ “เลดี้ เจอร์นีย์” ไปรู้จักจังหวัดสตูลกับสถานที่ท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต เริ่มวันแรก พาไปชมความงดงามที่เกิดจากธรรมชาติรังสรรค์ ถ้ำเลสเตโกดอน เดิมชื่อถ้ำวังกล้วย เป็นถ้ำหินปูนชั้นบางยุคออค์โดวิเชียนมีลักษณะเป็นอุโมงค์ใหญ่ทอดยาวในแนวระดับ อยู่ในเทือกเขาหินปูนที่ทอดยาวในแนวเหนือ-ใต้ จากเขาหญ้าระทางตอนเหนือต่อเนื่องลงมาตอนใต้ผ่านเขาวังกล้วยลงไป มีทางเข้าออก 3 ทาง อยู่ทางด้านตะวันออกของเทือกเขา 2 แห่ง และอยู่ทางด้านตะวันตกของเทือกเขา 1 แห่ง จากปากถ้ำทั้งสาม มีอุโมงค์ถ้ำยาวไปบรรจบกัน มีทางน้ำไหลจาพื้นที่ด้านตะวันออกเข้าไปในปากถ้ำทั้ง 2 และไหลไปบรรจบรวมกันผ่านอุโมงค์เดียวกันไปออกที่ปากถ้ำทางด้านตะวันตก เป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร แล้วไหลลงคลองหญ้าระ ผ่านผืนป่าชายเลนไปออกทะเลอันดามัน ภายในถ้ำจะได้ชมความสวยงามของหินงอกหินย้อย และยังมีสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจให้ได้ชมกัน คือ ฟอสซิลขากรรไกรและฟันกรามของช้างสเตโกดอนซึ่งช้างสเตโกดอนนี้เป็นช้างที่มีขนาดใหญ่กว่าแมมมอส รวมทั้งฟอสซิลแรดโบราณอีก 2 สกุล คือ เกนดาธิเรียม และคิโลธิเรียม ซากช้างและแรดดึกดำบรรพ์ดังกล่าว อยู่ในยุคที่โลกยังเป็นน้ำแข็งหรือไพลสโตซีนประมาณ 1.8 ล้านปีก่อนการเข้าไปชมถ้ำนั้นจะต้องพายเรือยางหรือเรือคายัคขนาดเล็กเข้าไปภายในถ้ำเท่านั้นต่อด้วยการไปเรียนรู้วิธีรักษาระบบนิเวศน์ทางทะเลของชุมชนบ้านน้ำทอน รวมถึงการทำประมงชาวบ้าน เช่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรมตามธรรมชาติ วันที่สอง ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล คฤหาสน์กูเด็น สร้างเมื่อ พ.ศ.2441 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2459 โดย พระยาภูมินารถภักดี หรือ ตวนกูบาฮารุดดินบินตำมะหงง (ชื่อเดิม กูเด็น บินกูแม๊ะ) เจ้าเมืองสตูลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คฤหาสน์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จปักษ์ใต้ แต่ไม่ได้ประทับแรม เคยใช้เป็นบ้านพักและศาลาว่าการเมืองสตูล จนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปีพ.ศ. 2484 อาคารหลังนี้ใช้เป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่น เคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัดสตูล และเป็นสถานที่สำคัญทางราชการ ภายในจัดแสดงประวัติศาสตร์เมืองสตูล วิถีชีวิตของชาวสตูลในด้านต่างๆ เช่น ชีวิตชาวเลเครื่องมือจับปลาแบบต่างๆการปั้นหม้อ ห้องบ้านเจ้าเมืองสตูล ห้องวัฒนธรรมชาวไทยมุสลิม ให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เดินทางไปยังท่าเรือตำมะลัง เพื่อล่องเรือชมหมู่บ้านประมงชายฝั่ง ที่นี่จะได้พบกับวิถีชุมชนที่มีชาวมุสลิมหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่รวมกันทั้งไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ชมปูทหารพระราชา ความอุดมสมบูรณ์ของป่าโกงกาง และชมการให้อาหารนกอินทรีย์สีน้ำตาลแดง ซึ่งเป็นพันธุ์เดียวกับที่พบในลังกาวีและชมวิถีชีวิตของชาวประมงชายฝั่งทะเลใต้ หรือประมงพื้นบ้าน ช่วงบ่ายไปชมอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่บ้านตันหยงโป ในภาษามลายู ตันหยง หมายถึง พื้นที่ที่เป็นแหลมทอดยาวไปในทะเล มีต้นปาบขึ้นเป็นจำนวนมาก มีลักษณะคล้ายต้นมะม่วง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าต้นโป จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านตันหยงโป ที่อ่าวตันหยงโปเต็มไปด้วยเกาะต่างๆ เช่น เกาะมด เกาะหัวมัน เกาะกวาง กามะการง เกาะสามเล็ก และไม่ไกลจากเกาะลังกาวีของมาเลเซีย มีปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า “สันหลังมังกร” หรือทะเลแหวกรวมทั้งมีหญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยที่บริเวณเชื่อมระหว่างเกาะหัวมันและเกาะสามในตันหยงโป เป็นสันหลังมังกรตัวที่มีความยาวที่สุด 4 กิโลเมตร โดยช่วงที่น้ำลดลงนั้นน้ำจะกระทบเข้าหากันคล้ายเกร็ดมังกรที่แวววาว ความพิเศษของสันหลังมังกรอยู่ที่สันทรายที่เต็มไปด้วยเปลือกหอยนานาชนิดที่ถูกน้ำทะเลพัดทับถมเป็นเวลาหลายร้อยปี วันสุดท้ายของ เลดี้ เจอร์นีย์ 2558 (Lady Journey 2015) “เรียนรู้ภูมิปัญญาไทยสู่วิถีไทย” กับเส้นทางท่องเที่ยว “วิถีไทย – วิถีชาวเล” จังหวัดสตูลเรามุ่งหน้าสู่ท่าเรือทุ่งริ้น อ.ท่าแพ จ.สตูล เพื่อล่องเรือไปชุมชนบ้านบากันใหญ่ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ดูวิถีชีวิตชาวประมงแบบอนุรักษ์ และการใช้ชีวิตแบบพอเพียงของชาวเลบ้านบากันใหญ่เพื่อร่วมกันสร้างโรงแรมปลา ศาลาปลาหมึก ในทะเลพื้นที่เขตอนุรักษ์ สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยใช้พรางตัวและวางไข่ของปลาและปลาหมึก และปล่อยปูม้าไข่นอกกระดองลงทะเล ปิดทริปท่องเที่ยวจ.สตูล ที่คุณจะได้เป็นทั้งผู้ให้คืนความสมดุลแก่ธรรมชาติ และเป็นผู้รับความสุขกลับบ้าน เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังเพื่อวันทำงานในวันต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ