เศรษฐกิจชะลอตัวฉุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ก.ค. ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 7

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 25, 2015 11:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เศรษฐกิจชะลอตัวฉุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ก.ค. ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 7 กระตุ้นรัฐเร่งเบิกจ่ายงบเดินหน้าโครงการลงทุน พร้อมหนุนเพิ่มศักยภาพ SMEs นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกรกฎาคม 2558 จำนวน 1,202 ราย ครอบคลุม 43 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 32.4,31.4 และ 36.2 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 44.8,14.9,12.1,12.1 และ 16.1 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 84.1 และ 15.9 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 83.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.0 ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2558 ยังคงปรับตัวลดลง เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการหดตัวของภาคการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ขณะที่ไทยยังไม่หลุดพ้นจากการถูกจัดชั้นปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 3 แม้ว่ารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยในระยะยาว อีกทั้งหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออกในช่วงครึ่งหลังปี 2558 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับกับภาวะเศรษฐกิจที่จะกลับมาขยายตัวในระยะต่อไป ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.0 ในเดือนมิถุนายน โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนเดือนกรกฎาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมทุกขนาด ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 73.2 ลดลงจากระดับ 74.4 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ,อุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.0 เพิ่มขึ้นจาก 94.6 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 79.4 ลดลงจาก 80.9 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์,อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์,อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.3 เพิ่มขึ้นจาก 98.6 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 95.0ลดลงจากระดับ 97.2 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า,อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ,อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 103.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 103.7 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกรกฎาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของทุกภูมิภาค ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 84.8 ลดลงจากระดับ 85.9ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง มียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น และยุโรปลดลง ประกอบกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบประเภทกุ้งและปลาทะเล ,สินค้าประเภทสับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวาน มียอดส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรป ลดลง) อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมียอดการส่งออกไปตลาดยุโรปและเอเชีย ลดลง ขณะที่ยอดขายในประเทศชะลอตัวจากกำลังซื้อในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมียอดส่งออกไปประเทศมาเลเชีย อินโดนีเชีย CLMV ลดลง) ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก (ผลิตภัณฑ์ประเภทถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และหลอดพลาสติก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ชิ้นส่วนพลาสติก มียอดการส่งออกไปสหรัฐฯ และประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้น เนื่องจากคุณภาพและราคาเป็นที่ต้องการของตลาด) ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.9 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 77.4 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 77.6 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ หัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภทจักสาน และประติมากรรมทองเหลือง มียอดสั่งซื้อจากตลาดยุโรปและตะวันออกกลางลดลง เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการลดลง) อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (สินค้าประเภทกระเบื้องหลังคาลอน แผ่นฝ้าเพดานมียอดขายในประเทศลดลง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทหลังคาโปร่งแสง มียอดยอดการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านลดลง) อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์ประเภทหินก่อสร้าง ที่มีขนาดใหญ่ หินตกแต่ง มียอดขายในประเทศลดลง,กระเบื้องปูพื้นแกรนิตมียอดสั่งซื้อจากประเทศเวียดนาม และลาว ลดลง) ในขณะที่อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ(ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าลูกไม้ เส้นด้าย 100% และเส้นไหมดิบ มีส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและยุโรปเพิ่มขึ้น,ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นใยเรยอน เส้นด้ายผ้ายืด มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประเทศในอาเซียน, ยุโรป, ตะวันออกกลาง ) ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.4 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 79.0 ลดลงจากระดับ 80.6 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (สินค้าประเภทเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิกมียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศมีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก,สินค้าประเภทเครื่องเคลือบดินเผาและชุดอาหาร มียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน ลดลง) อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์ปูนซิเมนต์ชนิดผงมียอดขายในประเทศ CLMV ลดลง ขณะที่ปูนซีเมนต์สำเร็จ มียอดขายในประเทศลดลงเช่นกัน)อุตสาหกรรมน้ำตาล (ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายดิบมียอดการส่งออกไปประเทศในอาเซียนลดลง) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ากีฬา มียอดการส่งออกไปประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูป แฟชั่น มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการดีไซน์แบบใหม่และเนื้อผ้ามีคุณภาพ) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 94.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคตะวันออก มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ 84.3 ลดลงจากระดับ 85.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (สินค้าประเภทคอมเพรสเซอร์ มียอดการส่งออกไปญี่ปุ่น ยุโรป จีน ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว,สำหรับเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และมอเตอร์ขนาดเล็กมียอดส่งออกไปตลาดอาเซียนลดลง) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกมียอดขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่นลดลง สำหรับสินค้าประเภทเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มียอดคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดอาเซียน) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (ผลิตภัณฑ์ประเภทพลอย ทับทิม เครื่องประดับเงิน มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศรัสเซีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ สำหรับเครื่องประดับเงินและเพชรมีคำสั่งซื้อลดลง จากประเทศในตะวันออกกลาง และเยอรมนี) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (สินค้าและประเภทชิ้นส่วนเครื่องจักรกล มอเตอร์อุตสาหกรรม มียอดส่งออกไปประเทศเยอรมัน และCLMV เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมเครื่องจักรในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับปรุงและเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.1 เพิ่มขึ้นจาก 97.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 85.3 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 85.6 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางดิบและยางแผ่นรมควันมีราคาลดลง ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีนลดลง เนื่องจากมีสินค้าในสต๊อกปริมาณสูง) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบ มียอดการส่งออกไปตลาดในเอเชียลดลงเนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอการสั่งซื้อ ประกอบกับราคาผลปาล์มดิบมีราคาลดลง) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ผลิตภัณฑ์ประเภทไม้ยางพาราแปรรูปมียอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีน อินโดนีเชีย ลดลงเนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ขณะที่คำสั่งซื้อไม้แปรรูปในประเทศชะลอตัว) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.2 ลดลงจากระดับ 101.7 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจ พบว่า ในเดือนกรกฎาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนมิถุนายน กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 81.7 ปรับตัวลดลงจาก 82.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, หัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนี ความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 90.2 ลดลงจากระดับ 92.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง, อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ,อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.7 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกรกฎาคม ได้แก่ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน และเดินหน้าโครงการลงทุนภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงใช้มาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการบริโภคของภาคเอกชน อีกทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาดและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน และจัดทำฐานข้อมูลการค้าการลงทุนของประเทศคู่ค้าใหม่ และประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย...//

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ