เกษตรฯ เรียกประชุมทุกหน่วยเกี่ยวข้องร่วมทำแผนรับมือภัยแล้ง ยันเคาะมาตรการและงบประมาณรองรับเสร็จใน 2 สัปดาห์ “รมว.เกษตรฯ” เร่งเตรียมเสนอกรอบมาตรการเสริมทางเลือกเกษตรกรพื้นที่เสี่ยง พร้อมชงครม.ประกาศงดสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรอังคารหน้า

ข่าวทั่วไป Friday September 18, 2015 09:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2558/59 ว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่ตั้งคณะกรรมการฯ ชุดนี้ขึ้น เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อน รวมถึงกำหนดแนวทาง มาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในปี 2558 /59 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับปลัดกระทรวงเป็นคณะกรรมการฯ ซึ่งสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ซึ่งกรมชลประทานได้ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จากปริมาณน้ำต้นทุนที่เก็บกักใน 33 เขื่อนหลัก และปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้หลายพื้นที่จะต้องประสบปัญหาภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทาน ที่จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดและสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชนเป็นรายพื้นที่ ซึ่งกรมชลประทานได้จัดทำรายละเอียดพื้นที่ที่จะประสบปัญหาภัยแล้งให้ทุกหน่วยงานได้รับทราบแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำที่สำคัญ คือ ลุ่มเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งลุ่มเจ้าพระยาคาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,677 ล้าน ลบ.ม. จะเพียงพอจัดสรรเพื่อระบบนิเวศน์ และน้ำอุปโภค-บริโภคเท่านั้น ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรช่วงฤดูแล้งนี้ได้ ขณะที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง คาดการณ์ ณ วันที่ 1 ม.ค.59 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,765 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะใช้เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ และเพื่อการอุปโภค-บริโภคจนถึงสิ้นฤดูแล้ง ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อทำการเกษตรได้เช่นกัน ดังนั้น ในวันอังคารที่ 22 ก.ย. 58 นี้ นอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์น้ำแล้ว จะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อออกประกาศงดสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรใน 2 ลุ่มน้ำนี้ด้วย ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ต.ค.58 เพื่อลดความเสี่ยงก่อนที่เกษตรจะลงทุนซื้อปัจจัยการผลิตเพื่อการเกษตรในฤดูแล้งนี้ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทานสองลุ่มน้ำ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านน้ำจะมีการหารือ เพื่อทบทวนแผนบริหารจัดการปริมาณน้ำที่มีอยู่ในเขื่อน และน้ำท่าทั่วไปเพื่อนำมาบริหารจัดการให้เพียงพอในช่วงฤดูแล้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งเข้าไปสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรถึงสถานการณ์น้ำขณะนี้ พร้อมประสานงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดร่วมดำเนินการล่วงหน้าแล้วเช่นกัน และตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไปจะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง และมาตรการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง 2558/59 ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการอำนวยการฯ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน 2. ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกำหนดตารางการปฏิบัติงานเพื่อบรรเทาวิกฤตภัยแล้งนี้ โดยมอบหมายงานในแต่ละกระทรวง กำหนดแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งกำหนดให้ส่งกลับมาที่กระทรวงเกษตรฯ ภายในวันจันทร์ที่ 21 เวลา 12.00 น. เพื่อเสนอกรอบมาตรการเข้าที่ประชุม ครม.อังคารที่ 22 ก.ย.นี้ หลังจากนั้นทุกหน่วยงานจะเสนอรายละเอียดแผนงาน โครงการ และงบประมาณมายังกระทรวงเกษตรฯ รวบรวมอีกครั้งภายในวันที่ 25 ก.ย.นี้ เพื่อนำมาประชุมร่วมกันในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2558/598 ครั้งต่อไป ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์ถัดไป "แผนงาน โครงการของกระทรวงเกษตรฯ ที่จัดทำไว้มี 6 โครงการ อาทิ การชะลอ หรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้กับสหกรณ์ หรือกองทุนในกำกับของกระทรวงเกษตรฯ การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะต้องนำมาบูรณาการกิจกรรม โครงการของกระทรวงอื่นๆ ที่มีกิจกรรมใกล้เคียงกัน และมีงบประมาณปกติรองรับอยู่แล้ว เช่น กิจกรรมของกระทรวงแรงงานในเรื่องการจ้างงานเพื่อสร้างอาชีพ เป็นต้น" พลเอกฉัตรชัย กล่าว สำหรับการเร่งรัดดำเนินการจัดทำแก้มลิง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดทุกหน่วยงานดำเนินการนั้น ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบอนุมัติงบกลางจำนวน 604 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงการแก้มลิง 30 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม 9 แห่ง หนองคาย 6 แห่ง เลย 3 แห่ง บึงกาฬ 4 แห่ง และมุกดาหาร 8 แห่ง เพื่อเก็บกักน้ำก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโครง และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในลำน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างภายใน 2 สัปดาห์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ