กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 14, 2015 13:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--โฟร์ พี.แอดส์ (96) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเก็บตัวอย่าง น้ำบริโภคในภาชนะที่ปิดสนิทและน้ำแข็งจากแหล่งผลิต เพื่อนำมาตรวจสอบความปลอดภัยก่อนถึงมือผู้บริโภค นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีภารกิจสำคัญด้านความปลอดภัยของอาหาร ได้ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งทั่วประเทศ รวม 77 จังหวัด ภายใต้โครงการบูรณาการอาหารปลอดภัย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี พ.ศ. 2558 ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 – กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ร่วมกับสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบเก็บตัวอย่างจากแหล่งผลิต และนำส่งตรวจวิเคราะห์ ที่ห้องปฏิบัติการในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งสิ้น 4,750 ตัวอย่าง จำแนกเป็นน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุ ที่ปิดสนิท 4,135 ตัวอย่าง และน้ำแข็ง 615 ตัวอย่าง โดยมีรายการตรวจวิเคราะห์ ด้านกายภาพและเคมี ได้แก่ ความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณไนเตรท ปริมาณฟลูออไรด์ และด้านจุลินทรีย์ ได้แก่ โคลิฟอร์ม (Coliform) อีโคไล (E.coli) และเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ 2 ชนิด คือ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และซาลโมเนลล่า (Salmonella spp.) น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็ง จัดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทควบคุมเฉพาะ มีกฎหมายควบคุมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การจำหน่าย และการแสดงฉลากต้องมีคุณภาพเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีประกาศฉบับที่ 61 (พ.ศ.2524) และ ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และฉบับที่ 137 (พ.ศ.2527) เรื่อง น้ำแข็ง ผลจากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างทั้งสิ้น 4,750 ตัวอย่าง พบว่ามีคุณภาพได้มาตรฐาน 2,690 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 56.6 และไม่ได้มาตรฐาน 2,060 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43.4 โดยตัวอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน 2,505 รายการ สามารถจำแนกเป็นไม่ได้มาตรฐานด้านกายภาพและเคมี 1,584 รายการ คิดเป็นร้อยละ 63.2 โดยมีสาเหตุหลักมาจากความเป็นกรด-ด่างที่สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด 1,505 รายการ ปริมาณไนเตรท 47 รายการ ปริมาณฟลูออไรด์ จำนวน 32 รายการ คิดเป็นร้อยละ 60.1, 1.9 และ 1.3 ตามลำดับ สำหรับตัวอย่าง ที่ไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ 921 รายการ คิดเป็นร้อยละ 36.8 สาเหตุจากพบเชื้อโคลิฟอร์มเกินมาตรฐานกำหนด 737 รายการ เชื้ออีโคไล 153 รายการ เชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคอาหารเป็นพิษชนิดสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส 22 รายการ และเชื้อซาลโมเนลล่า 9 รายการ คิดเป็นร้อยละ 29.4, 6.1, 0.9 และ 0.4 ตามลำดับ นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำบริโภค ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน คือ ปัญหาด้านกายภาพและด้านจุลินทรีย์ ด้านกายภาพ ได้แก่ ค่าความเป็นกรด-ด่าง สูงหรือต่ำกว่าค่ากำหนด มาตรฐานกำหนดระหว่าง 6.5-8.5 สาเหตุอาจมาจากคุณภาพน้ำดิบหรือกรรมวิธีการผลิตไม่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากนัก สำหรับปัญหาด้านจุลินทรีย์ สาเหตุมาจากการพบเชื้อโคลิฟอร์มเกินมาตรฐาน รองลงมา คือ พบเชื้ออีโคไล ซึ่งจัดเป็นจุลินทรีย์บ่งชี้สุขลักษณะของการผลิตที่ไม่เหมาะสม สำหรับเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ ตรวจพบในจำนวนเพียงเล็กน้อย ดังนั้น น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งในภาพรวมของประเทศ ยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพผู้บริโภคถึงจะตรวจพบความไม่ปลอดภัยในระดับต่ำก็ตาม ฉะนั้น การปรับปรุงด้านสุขลักษณะการผลิต การพัฒนาผู้ประกอบการ เป็นปัจจัยสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้แจ้งผลการตรวจวิเคราะห์และให้คำแนะนำผู้ประกอบการ เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน สำหรับผู้บริโภค ควรเลือกซื้อน้ำดื่มและน้ำแข็ง ที่บรรจุในภาชนะที่สะอาดปิดสนิท ไม่รั่วซึมโดยการทดลองยกขวดเอียงไปมาต้องไม่มีน้ำหกออกจากขวด ไม่มีร่องรอยการเปิดขวด และฉลากต้องระบุเลข อย. ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต ส่วนน้ำดื่มที่ผ่านเครื่องกรองน้ำก็ควรมีการเปลี่ยนไส้กรองน้ำตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนดและควรสังเกตน้ำที่กรองออกมา ถ้าน้ำขุ่นหรือมีตะกอนก็ไม่ควรนำมาดื่ม ทั้งนี้การฆ่าเชื้อโรคในน้ำดื่มอาจทำได้ง่ายๆ ด้วยการต้มน้ำให้เดือด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ