หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในกรณีที่ผู้ออกตราสารแห่งหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องผิดนัดชำระหนี้

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday November 16, 2001 10:04 —ประกาศ ก.ล.ต.

                         ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กน. 40/2544
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ในกรณีที่ผู้ออกตราสารแห่งหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องผิดนัดชำระหนี้
____________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"กองทุน" หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
"สมาคม" หมายความว่า สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ในการจัดการกองทุน หากมีการผิดนัดชำระหนี้หรือมีพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารแห่งหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้บริษัทจัดการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ เว้นแต่สำนักงานจะผ่อนผันเป็นอย่างอื่น
ข้อ 3 บริษัทจัดการจะรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นที่มิใช่หลักประกันเพื่อกองทุนได้ต่อเมื่อได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นไว้ในสัญญาแต่งตั้งบริษัทจัดการ ข้อบังคับกองทุน หรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุน และก่อนการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นที่มิใช่หลักประกันในแต่ละครั้ง บริษัทจัดการต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุน โดยคณะกรรมการกองทุนจะต้องตรวจสอบและแสดงความเห็นพร้อมเหตุผลว่าในขณะนั้นการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกมากกว่าการถือหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องนั้น
ในการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่กองทุนจะได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น มูลค่าของทรัพย์สิน ประมาณการค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพย์สิน และค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายทรัพย์สิน เป็นต้น พร้อมเหตุผลและความจำเป็นในการรับชำระหนี้ รวมทั้งต้องจัดให้มีหรือจัดทำเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) เอกสารหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ามีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น หรือ
(2) บทวิเคราะห์และเหตุผลประกอบบทวิเคราะห์ที่บริษัทจัดการจัดทำซึ่งแสดงถึงพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารแห่งหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้
ข้อ 4 เมื่อบริษัทจัดการได้รับทรัพย์สินมาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นเพื่อกองทุน ให้บริษัทจัดการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับประเภท จำนวน และชื่อผู้ออกตราสารแห่งหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง วันที่บริษัทจัดการได้รับทรัพย์สินมาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้รับโดยมีสาระสำคัญอย่างน้อยเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว มูลค่าทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น ไปยังคณะกรรมการกองทุนภายในวันที่ยี่สิบของเดือนถัดจากเดือนที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา
ข้อ 5 ให้บริษัทจัดการกำหนดราคาทรัพย์สินที่กองทุนได้รับมาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นเพื่อใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ข้อ 6 ให้บริษัทจัดการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีเป็นทรัพย์สินประเภทที่กองทุนนั้นสามารถลงทุนในหรือมีไว้ได้ บริษัทจัดการอาจมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้
(2) กรณีเป็นทรัพย์สินประเภทที่กองทุนนั้นไม่สามารถลงทุนในหรือมีไว้ได้ บริษัทจัดการต้องจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวภายในสองปีนับแต่วันที่กองทุนได้รับทรัพย์สินนั้นมาเว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการกองทุน ทั้งนี้ ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวบริษัทจัดการอาจจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวได้
ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารทรัพย์สิน ให้บริษัทจัดการจ่ายจากทรัพย์สินของกองทุน
ข้อ 7 ทรัพย์สินใดที่กองทุนได้มาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้บริษัทจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ 5 และข้อ 6 ทั้งนี้ ในกรณีที่ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินตามข้อ 6(2) บริษัทจัดการต้องจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวภายในสองปีนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
(นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ